นายศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “เอไอ เพื่อการสื่อสาร ทำไมต้องกำกับดูแลและกำกับอย่างไร” จัดโดย สำนักงาน กสทช. ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ได้มีจำนวนคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ เจน เอไอ ถึงแม้ว่าก่อนการใช้งานจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้งานให้อ่าน ทั้งระบุว่าข้อมูลอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด อาจเป็นอันตราย และไม่รับผิดชอบอะไร แต่ก็มีคนใช้มากกว่า 100 ล้านคนใช้งาน จึงมีคำถามว่าควรจะมีกฎหมายออกมาควบคุมหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองตามความจริงในปัจจุบันยังไม่ควรออก ก.ม. มาเพื่อควบคุมการใช้งานเอไอ เพราะเทคโนโลยีเอไอมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ในห้องแล็บมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และบริษัทผู้พัฒนามีการประกาศสิ่งใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ คือ การสร้างความเข้าใจ สร้างภูมิคุ้มกันและตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้งาน

“ประเทศต่างๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ กำลังจะมีการออกกฎหมายควบคุมเอไอ ขณะที่สหภาพยุโรป ได้ผ่านร่างเอไอ แอค และกำลังส่งให้ประเทศในยุโรปร่วมกันพิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกฎหมาย เอไอ ตัวแรกที่ลงไปกำกับการใช้งานอย่างเหมาะสมตามความเสี่ยง จึงเห็นได้ว่าประเทศใหญ่ต่างๆ ต้องการควบคุมเอไอ”

นายศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการประยุกต์ใช้เอไอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเอไอเป็นเทคโนโลยีจากข้อมูลและต้องถูกเทรน ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าข้อมูลที่เทรนให้กับเอไอ มีความถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ทำให้แต่ละเซ็กเตอร์ ก็มีความเสี่ยงไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถออกกฎหมายเดียวแล้วใช้กำกับดูแลในทุกเซ็กเตอร์ได้ ทางเอ็ตด้า จึงได้มีการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแล อาทิ ด้านการเงิน คือ  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากได้หารือหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพไปแล้ว ว่าจะมีการกำกับดูแลด้านจริยธรรมการใช้งานอย่างไร โดยต้องสอดคล้องกับประเทศต่างๆ  เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน แต่ก็ไม่ใช่การลอกเลียนมาทั้งหมด ควรจะมีโครงสร้างที่ตรงกับบริบทของประเทศไทยด้วย.