เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฝ่ายค้าน จริงหรือเปล่า?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุที่ฝ่ายค้านไม่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.75 ระบุว่า ควรให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารงบประมาณปี 2567 ก่อน รองลงมา ร้อยละ 23.74 ระบุว่า รัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศได้แค่หกเดือนจึงยังไม่ถึงเวลาขอเปิดซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 23.51 ระบุว่า ฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลใด ๆ ในเชิงลึกพอที่จะล้มรัฐบาลได้ ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ฝ่ายค้านเกี้ยเซี้ย (ประนีประนอม) กับรัฐบาล ร้อยละ 5.42 ระบุว่า ฝ่ายค้านอยากร่วมรัฐบาล ร้อยละ 5.34 ระบุว่า ฝ่ายค้านบางพรรคมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับประเด็น มาตรา 112 ร้อยละ 4.05 ระบุว่า รัฐบาลบริหารแบบไม่มีช่องโหว่ให้ฝ่ายค้านขอเปิดซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 3.05 ระบุว่า ฝ่ายค้านทำงานไม่เป็น และร้อยละ 11.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมติของฝ่ายค้านที่จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.09 ระบุว่า เห็นด้วยกับมติของฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ รองลงมา ร้อยละ 28.24 ระบุว่า ฝ่ายค้านไม่ควรขอเปิดอภิปายใด ๆ ในเวลานี้ ร้อยละ 26.72 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล มากกว่า และร้อยละ 6.95 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของฝ่ายค้าน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.49 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 28.39 ระบุว่า พอใจมาก ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 10.84 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการบุกทำเนียบรัฐบาลของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา เพื่อทวงถามร่างกฎหมายที่ค้างจากฝ่ายบริหาร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 27.25 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทวงถาม แต่ไม่ควรบุกทำเนียบรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 25.19 ระบุว่า เห็นด้วยกับการบุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถาม ร้อยละ 22.06 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยทั้งการทวงถามและบุกทำเนียบรัฐบาล ร้อยละ 12.44 ระบุว่า ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เป็นเรื่องสมควรแล้วในการติดตามตรวจสอบโดยชอบและเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ร้อยละ 8.85 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาท ร้อยละ 8.63 ระบุว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจและไม่ให้เกียรติฝ่ายบริหาร ร้อยละ 6.03 ระบุว่า แค่ต้องการให้เป็นข่าว และร้อยละ 3.36 ระบุว่า เป็นการทำตามขั้นตอนของทางราชการ และร้อยละ 9.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง