เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ จำนวน 3 คน ได้เดินทางจาก จ.ศรีสะเกษ พบกับ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ที่ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อต้องการขอความช่วยเหลือ หลังจากถูกบุคคลที่อ้างว่าเป็นทนายความหลอกเอาเงินไปกว่า 200,000 บาท

โดย นางหนูสมาน มะณีวงศ์ อายุ 68 ปี เล่าว่า ตนเองมีคดีความเรื่องที่ดินมรดกกับภรรยาน้อยของพ่อ เรื่องที่ดินจำนวน 3 ไร่ แต่รู้สึกว่าตนเองจะเสียเปรียบ ตอนนั้นอยู่ในบัลลังก์ศาล ตนได้ก้มกราบศาลขอความยุติธรรม ตอนนั้นเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาให้ลุกขึ้น หลังจากนั้นได้มีชายคนหนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่ในบัลลังก์ด้วยกัน อายุประมาณ 40 ปี เข้ามาประคอง พร้อมกับบอกว่า “ผมจะช่วยเหลือเอง” จนกระทั่งรู้จักกันแล้วตามมาหาที่บ้าน โดยทนายคนดังกล่าวแนะนำตัวบอกว่า “ผมชื่อทนายแป๊ะ” พร้อมมอบนามบัตรให้

นางหนูสมาน เล่าต่อว่า จากนั้นทนายแป๊ะ ได้ขอเงินค่าดำเนินการครั้งแรก 60,000 บาท ตนก็ให้ไปเพราะอยากชนะคดี หลังจากนั้นเรียกเงินครั้งละ 20,000-40,000 บาท รวมทั้งหมดเป็น 200,000 บาท

นางหนูสมาน เล่าอีกว่า หลังจากเสียเงินไปครบแล้ว ทนายแป๊ะ ได้มาเยี่ยมที่บ้าน นุ่งกางเกงขาสั้นมาหาที่บ้าน ตนสังเกตเห็นกำไลอยู่ที่ข้อเท้า จึงถามว่า “ทนายใส่กำไลอะไร” ทนายบอกว่า “อ๋อ นาฬิกาข้อเท้า” มาถึงตอนนี้ยิ่งคิดยิ่งเจ็บใจ หลังจากเอานามบัตรมาดู พบว่าเป็นนามบัตร “รับเช่าพระเครื่อง” ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็น “ทะแนะ” ไม่ใช่เป็นทนายตามที่กล่าวอ้าง แต่ทำอย่างไรได้เพราะเสียเงินไปแล้ว จึงมาร้องทนายอั๋นที่บุรีรัมย์ เพื่อให้ช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับ พระสริตร์ จันทะชัย อายุ 61 ปี เล่าว่า รู้จักทนายแป๊ะ เพราะน้องสาว คือ นางหนูสมาน มาเอาเงินที่ฝากไว้เพื่อเอาไปให้ทนายแป๊ะ จึงถือโอกาสปรึกษาทนายแป๊ะ เรื่องอยากให้ทนายช่วยเรื่องหลักฐานที่ดินของสำนักสงฆ์ ให้ได้มีเลขที่ เพราะจะได้ยกฐานะเป็นวัด ซึ่งทนายแป๊ะเรียก 35,000 บาท จึงมัดจำไป 10,000 บาท พร้อมกับเอาหลักฐานสมุดคู่มือรถเก๋งฝากทนายแป๊ะไปต่อทะเบียน ฝากเงินไปอีก 3,000 บาท หลังจากนั้นติดต่อไม่ได้เลย

นอกจากนี้ยังพบว่ามีนายอาน จันทะชัย อายุ 69 ปี ที่ให้ทนายช่วยเหลือเปลี่ยนหลักฐานที่ดินจาก น.ส.3ก มาเป็นโฉนด ทนายเรียกเงิน 10,000 บาท แล้วเงียบหายไปเช่นเดียวกัน

ทนายอั๋น

ด้าน นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นคนที่เป็นทนายความนิสัยไม่น่าจะเป็นแบบนี้ ไม่ได้ให้เซ็นแต่งตั้งให้เป็นทนายความ ไม่เคยใส่ชุดทนายความ โดยวิสัยทั้งหมดทนายไม่ทำแบบนั้น พฤติกรรมดังกล่าวส่วนตัวคิดว่าชั่วมาก สาเหตุมาจากช่วงหลังกระบวนการยุติธรรมมันมีปัญหาประชาชนผู้ยากไร้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ แต่คนคนนี้กลับไปหากินกับคนยากจน ผู้ยากไร้ หาช่องว่างตรงนี้ไปหากิน

นายภัทรพงศ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะทำการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นทนายความจริง ก็จะไปร้องต่อสภาทนายความ แต่หากไม่เป็นทนายจะดำเนินการทางด้านคดี คือฉ้อโกง แอบอ้างว่าตนเป็นทนายความสามารถทำคดีได้ ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเป็นทนายความ แล้วสูญเสียเงินไป ส่วนที่สอง คือการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศาล ถึงแม้จะไม่ได้พูดตรงๆ ก็ตาม แต่พฤติกรรมทำเหมือนรู้ว่าตนเองเป็นคนในสามารถวิ่งเต้นคดีได้ โดยจะพาผู้เสียหายไปร้องต่อศาลที่เป็นคดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดศาลหรือไม่.