เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ถึงเคสชายวัย 39 ปี แข็งแรงดีแต่กลับใหลตาย ซึ่งโรคดังกล่าวนั้น มักกับกับผู้ชายที่แข็งแรงดี

โดยคุณหมอได้ระบุว่า “โรคใหลตายคือโรคที่ทำให้เสียชีวิตขณะนอนหลับ โรคนี้มักเกิดกับชายหนุ่มที่ร่างกายปกติแข็งแรง” ขณะกำลังหลับมีเสียงหายใจเฮือก เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต พบมากในคนภาคอีสานและภาคเหนือ โรคใหลตายเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ พันธุกรรมและสาเหตุที่ไม่ใช่พันธุกรรม

ผู้ป่วยชาย ปัจจุบันอายุ 39 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ วันที่ 6 ธันวาคม 2563 ขณะนั้นอายุ 35 ปี กำลังนอนหลับประมาณตี 2 ภรรยาได้ยินเสียงผู้ป่วยหายใจเฮือก เรียกปลุกไม่ตื่น ภรรยาและน้องช่วยกันปั๊มหัวใจ เรียกรถพยาบาลนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ช็อตไฟฟ้า 8 ครั้งในห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยมาตื่นรู้ตัวอีกครั้งขณะอยู่ในโรงพยาบาล ได้ฉีดสีตรวจเส้นเลือดโคโรนารีย์หัวใจ ไม่พบเส้นเลือดตีบตัน ไม่มีประวัติญาติพี่น้องหัวใจหยุดเต้นกระทันหันหรือเป็นโรคใหลตาย ไม่ใช่คนอีสานหรือคนเหนือ

วินิจฉัย : โรคใหลตาย (Brugada Syndrome)
นอนในรพ.2 สัปดาห์ วันที่ 11 มกราคม 2564 ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator – AICD) โดยฝังเครื่องลงใต้ผิวหนัง แล้วใส่สายไปในหัวใจ เครื่องนี้จะตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา เมื่อหัวใจเกิดเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง เครื่องจะส่งกระแสไฟกระตุ้นให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ ไม่ให้หัวใจหยุดเต้นอีก

หลังใส่เครื่อง AICD ในเดือนพฤษภาคม 2565 พบหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วผิดปกติ (Ventricular fibrillation) 1 ครั้งขณะกำลังหลับ เครื่องช็อตไฟฟ้าผู้ป่วยอัตโนมัติโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกอะไรด้วยซ้ำ ติดตามผู้ป่วยถึงเดือนมีนาคม 2567 ผู้ป่วยยังแข็งแรงดี ทำงานได้เหมือนคนปกติ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC