เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายการรับนักเรียนของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้มอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยให้คำนึงถึงโอกาสทางการศึกษาและเด็กทุกคนต้องมีที่เรียนนั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตดำเนินการรับสมัครสอบและคัดเลือกนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ปรากฏผู้ปกครองจำนวนมาก แสดงความกังวลว่าบุตรหลานจะไม่มีที่เรียน เนื่องจากกรณีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4
ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง

“เรื่องดังกล่าว สพฐ. เข้าใจความกังวลใจของผู้ปกครอง และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน สพฐ. ณ อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 8 สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2288-5839 และมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567” เพื่อช่วยเหลือ ประสานงานและจัดหาที่เรียนให้แก่นักเรียนทุกคน โดยผู้ปกครองและนักเรียนสามารถยื่นความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ทราบประกาศผลการสอบคัดเลือก จนถึงวันที่ 2 เม.ย. 2567 และนักเรียนทุกคนจะต้องมีที่เรียนในโรงเรียนที่ยังมีที่ว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ ภายในวันที่ 5 เมษายน 2567 และให้โรงเรียนรับมอบตัว ในวันที่ 6 เม.ย. 2567 ตามปฏิทินการรับนักเรียนที่กำหนด” นางภัทริยาวรรณ กล่าว

สำหรับในพื้นที่ กทม. มีโรงเรียนที่ยังสามารถรองรับนักเรียนเข้าเรียนต่อใน ม.1 และ ม.4 ได้ตามรายชื่อดังนี้