เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ กรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร ได้ออกระเบียบว่าด้วยเรื่องการแต่งกายของนักเรียน เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน โดยมีบางข้อกำหนดว่า กรณีที่นักเรียนนำโทรศัพท์หรืออุปกรณ์แต่งหน้า ทำผม ทุกชนิดมาโรงเรียน หากตรวจพบทางโรงเรียนจะเก็บอุปกรณ์เหล่านั้น และไม่คืนให้ทุกกรณี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ นั้น

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับทราบข้อมูลแล้ว และได้สั่งการ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียนดังกล่าว เร่งติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบที่ทางโรงเรียนได้กำหนดขึ้นมาจริง แต่มีเจตจำนงเพื่อต้องการป้องปรามนักเรียนเท่านั้น ในทางปฏิบัติมิได้จัดเก็บของดังกล่าวไว้โดยไม่คืนให้กับนักเรียนแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปได้สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสังคม ในวันนี้ทางโรงเรียนจึงได้ออกประกาศยกเลิกระเบียบการแต่งกายฉบับดังกล่าวเรียบร้อยแล้วทุกข้อ และจะมีการประกาศระเบียบฉบับใหม่ต่อไป โดยทาง สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ได้เน้นย้ำให้โรงเรียนดำเนินการแก้ไขระเบียบให้เป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนอย่างเคร่งครัด รวมถึงดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยยึดสวัสดิภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ พร้อมทั้งพูดคุยทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือมีมาตรการหรือทางออกอีกหลากหลายรูปแบบที่สามารถทำได้ เช่น อาจขอความร่วมมือหรือทำ MOU ระหว่างครูกับผู้ปกครอง และนักเรียน ว่าในช่วงเวลาเรียนต้องงดใช้โทรศัพท์ ดีกว่าไปบังคับหรือห้ามใช้แล้วยึดไป ซึ่งถือว่าผิดหลักการ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการของการออกระเบียบต่างๆ นั้น โดยหลักการแล้วต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้แทนครู และหน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบด้วย เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้เรียน ซึ่งระเบียบดังกล่าวที่ออกมา ทางผู้อำนวยการโรงเรียนอาจจะหวังดีให้เด็กตั้งใจเรียน และอยากให้ครูได้สอนเด็กอย่างเต็มที่ แต่ว่าพอไปดูแล้วมันกระทบสิทธิหรือละเมิดสิทธิของนักเรียนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ทาง สพฐ. ได้พยายามกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารมากขึ้นเพราะในเชิงปฏิบัติแล้ว การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจะอยู่ที่โรงเรียนเป็นหลัก โดยเน้นย้ำในเรื่องการบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ หรือการบริหารทุกอย่างให้โรงเรียนมีบทบาทมากขึ้น โดยมี สพฐ. คอยให้นโยบายในภาพกว้าง ส่วนทางโรงเรียนสามารถออกระเบียบของตนเองได้ แต่ต้องผ่านคณะกรรมการโรงเรียน ในการให้คำแนะนำ ส่งเสริมและช่วยเหลือ ว่าออกระเบียบได้ถูกต้องไหม ขัดกับหลักการไหม ตัวอย่างเช่น การรับนักเรียนเราจะให้ส่วนกลางออกนโยบายในภาพกว้างไว้เป็นพื้นฐานสำหรับโรงเรียนทั้งประเทศ และทางโรงเรียนกับเขตพื้นที่จะออกนโยบายในเชิงปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง แต่ต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน ไม่กระทบกับสิทธิของนักเรียนหรือผู้ปกครองด้วย

“สำหรับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการคิดเร็ว ทำเร็ว ไม่รอบคอบ แต่ตอนนี้เรื่องทั้งหมดก็ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดย สพฐ. จะออกแนวทางเน้นย้ำในเรื่องของการออกระเบียบที่มีการกำหนดข้อบังคับ ซึ่งต้องไม่กระทบสิทธิของนักเรียนและผู้ปกครอง และที่สำคัญต้องส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของผู้เรียน ตามที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. มีข้อห่วงใยถึงสวัสดิภาพของนักเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในสถานศึกษาที่มีความปลอดภัย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข“ อย่างครบถ้วนทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว