จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 9/2567 หรือคดีลุงเปี๊ยก นำโดยนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้ประชุมร่วมกับนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะพนักงานอัยการ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าทางคดีมีพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 นาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 เม.ย. นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า วานนี้ (10 เม.ย.) คณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมร่วมกับ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะพนักงานอัยการ ได้มีมติร่วมกันเตรียมออกหมายเรียกผู้ต้องหาหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยจะส่งหมายเรียกดังกล่าวแจ้งไปยัง ผบก.ภ.จว.สระแก้ว ให้รับทราบว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ข้าราชการตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 9 นาย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย ระดับสัญญาบัตร 6 นาย และระดับประทวน 3 นาย โดยแบ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวลุงเปี๊ยก จำนวน 8 นาย ประกอบด้วย ตำรวจระดับสัญญาบัตร 5 นาย และระดับประทวน 3 นาย ซึ่งมีหลักฐานพอแจ้งข้อหาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมกันกระทำการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 22 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 309 มาตรา 310 ประกอบมาตรา 83

​นายอังศุเกติ์ เผยอีกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 พบการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นระดับสัญญาบัตร 1 นาย โดยแจ้งข้อหาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนมาให้สอบสวนรวบรวมในสำนวนการสอบสวนได้ จะเป็นภาพวิดีโอ พยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร ฯลฯ คณะพนักงานสอบสวนยินดีไปตรวจสอบให้ทั้งหมดตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มีการร้องขอ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่ากระทบต่อตำแหน่งเจ้าหน้าที่ราชการ เราจึงเปิดโอกาสให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องบุคคลใด

นายอังศุเกติ์ เผยต่อว่า การเตรียมเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 รายมารับทราบข้อกล่าวหาจะเกิดขึ้นในห้วงวันที่ 7-10 พ.ค. โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ต้องหาให้ทยอยเข้าให้ปากคำตามลำดับความสำคัญของพยานหลักฐาน คาดว่าสอบปากคำวันละ 2-3 นาย ในส่วนของ ผกก.สภ.อรัญประเทศ (พ.ต.อ.พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา) เบื้องต้นจะเป็นรายแรกที่จะสอบปากคำ อาจอยู่ในช่วงกรอบวันที่ 7-8 พ.ค. ส่วนสถานที่สอบปากคำ คือ ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 (ฝั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ห้องพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งในวันสอบปากคำดังกล่าว พนักงานสอบสวนจะแจ้งพฤติการณ์ความผิดให้รับทราบว่ากระทำความผิดอะไรบ้าง และสาเหตุที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หรือหากเข้าพบพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ประสงค์ให้การ จะขอส่งเป็นเอกสารชี้แจงหรือพยานหลักฐานในภายหลังนั้น พนักงานสอบสวนก็จะพิจารณาและยินดีรับ เพราะเราต้องให้เวลาพวกเขาไปจัดเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย และให้เข้าชี้แจงอีกครั้งภายใน 7-10 วัน

นายอังศุเกติ์ เผยด้วยว่า เมื่อคณะพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ตรวจพยานเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ของผู้ต้องหาครบเรียบร้อยแล้ว เราจะพิจารณาว่าจะมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหารายใดด้วยฐานความผิดใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เพราะต้องเรียนตามตรงว่าเราค่อนข้างเปิดโอกาสและให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหา เพื่อให้เขาชี้แจงในกรณีที่เขามองว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ถ้าหากพยานหลักฐานและการสอบปากคำ การสืบสวนสอบสวนพบว่าบุคคลดังกล่าวไม่เข้าข่ายกระทำความผิดในฐานความผิดนั้นๆ เราก็จะไม่สั่งฟ้องในฐานความผิดดังกล่าว แต่การสั่งจะฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในส่วนของดีเอสไออย่างเดียว แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากหัวหน้าคณะทำงานซึ่งก็คือพนักอัยการรับทราบพ้องกัน

นายอังศุเกติ์ ปิดท้ายว่า เมื่อมีการสรุปสำนวนเสร็จสิ้นเมื่อไร คณะพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 31 วรรคท้าย และแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบในส่วนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด จากนั้นพนักงานอัยการจึงจะมีการสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการทางคดีของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นไปตามนโยบายของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากคดีดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก.