จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีฟอกเงินทางอาญา ได้ทำการสืบสวน ภายหลังได้รับเบาะแสการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หลังพบว่ามีกลุ่มบุคคลภายใต้เครือข่าย “โกฟุก” นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนันภายใต้เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวยร้อยล้าน, นพเก้า, นาคราช, ชอบหวย, ล้อตโต้เอ็มเอ็ม, ดีเอ็นเอ, เยเย่ และอื่นๆ เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท จึงรับไว้ทำการสอบสวนคดีพิเศษที่ 10/2567 นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้กองคดีฟอกเงินทางอาญา เปิดปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมเครือข่ายโกฟุก ฟอกเงินจากพนันออนไลน์ โดยดำเนินการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 27 จุด หลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งติดตามจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาตามหมายจับ รวม 18 ราย และเตรียมขยายผลเรื่องหลบเลี่ยงภาษีน้ำมันมูลค่าความเสียหายนับ 10,000 ล้านบาท หลังจากพบหลักฐานเชื่อมโยงในเครือข่ายเดียวกัน

จากการสอบสวนขยายผลพบว่า เครือข่ายพนันออนไลน์ดังกล่าวใช้วิธีการโอนเงินเพื่อแยกย้าย ถ่ายเททรัพย์สินผ่านบัญชีม้า รวมทั้งแปรสภาพเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ จำนวนมาก คณะพนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลขออนุมัติออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 18 หมายจับ จึงมีการเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 เป้าหมาย ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดระนอง เพื่อติดตามจับกุมมาดำเนินคดี พร้อมทั้งตรวจค้นเพื่อติดตามทรัพย์สินและพยานหลักฐาน เบื้องต้นสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 7 ราย รวมทั้งได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินและพยานหลักฐาน ประกอบด้วย รถยนต์หรู ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม อาวุธปืน และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมและรายงานผลการปฏิบัติมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ

อนึ่ง จากการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นอกจากเครือข่ายโกฟุก จะเกี่ยวข้องกับความผิดเรื่องพนันออนไลน์และฟอกเงินแล้ว ยังพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกระบวนการฉ้อภาษี ในการสร้างหลักฐานการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปนอกประเทศที่เป็นเท็จ แล้วนำมาขอคืนภาษี โดยเบื้องต้นพบว่ามีการดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้รัฐสูญเสียภาษีนับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการสอบสวนคดีพิเศษอีกคดีหนึ่งแล้ว