แพทย์หญิงตู้น่า รองผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์กายจิตจากโรงพยาบาลประชาชนที่ 4 แห่งเมืองเฉิงตู เผยแพร่กรณีผู้ป่วยโรค “คลั่งรัก” ผ่านสำนักข่าว เรดสตาร์ นิวส์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา
แพทย์หญิงตู้น่าอธิบายว่าอาการของโรคคลั่งรักหรือโรคความรักขึ้นสมอง (Love brain) นี้พบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline personality disorder) โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่าอาการของโรคนี้มักเกิดขึ้นร่วมกับโรคทางจิตอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคบุคลิกภาพสองขั้ว (ไบโพลาร์)
โรคคลั่งรักนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นโรคเสพติดความรัก (Love addiciton) ซึ่งมีอาการสำคัญคือผู้ป่วยจะหมกมุ่นและเกาะติดอยู่กับคนรัก โดยแสดงพฤติกรรมตามติดจนผิดปกติ เช่น โทรศัพท์ติดต่อถี่ ๆ หรือแสดงอาการว่าต้องการพึ่งพาอีกฝ่ายมากเกินไป
สำหรับกรณีตัวอย่างที่แพทย์หญิงตู้น่านำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์นี้ เป็นกรณีของผู้ป่วยหญิงวัย 18 ปี นามสมมุติว่า “เสี่ยวอวี๋” เธอเพิ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและคบหากับแฟนหนุ่มคนหนึ่ง
ในตอนแรกความรักของคนทั้งสองก็ดูหวานชื่นดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสี่ยวอวี๋ ก็แสดงอาการหมกมุ่นและเกาะติดฝ่ายชายจนเกินพอดี เธอเรียกร้องให้แฟนหนุ่มต้องคอยบอกเธอตลอดเวลาว่าเขาทำอะไรอยู่ที่ไหน, ต้องตอบข้อความของเธอในทันทีและต้องการให้เขาอยู่ด้วยตลอดเวลา
ตู้น่า เล่าว่าคนไข้ของเธอเรียกร้องให้แฟนหนุ่มตอบข้อความในเวลาไม่กี่วินาที หากเขาตอบช้า เธอจะโทรศัพท์หาเขาอย่างบ้าคลั่งจนกว่าจะได้คำตอบ
มีอยู่คราวหนึ่งที่ เสี่ยวอวี๋ โทรศัพท์หาแฟนหนุ่ม แต่เนื่องจากเขากำลังทำงาน จึงไม่ได้รับโทรศัพท์ของเธอ ทำให้หญิงสาวกระหน่ำโทรฯหาเขาในวันนั้นมากกว่า 100 ครั้ง
เสี่ยวอวี๋ ยังเคยทำแม้กระทั่งส่งวิดีโอคอลผ่านแอปวีแชตไปหาแฟนหนุ่ม ถ้าหากเขาไม่ยอมตอบข้อความของเธอ
นอกจากนี้ เสี่ยวอวี๋ มักจะแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง เมื่อแฟนหนุ่มของเธอไม่ยอมรับโทรศัพท์ ด้วยความกลัวว่าเขาจะไม่รักเธออีกแล้วและคิดจะทอดทิ้งเธอ อารมณ์ที่รุนแรงนี้ทำให้เธอขว้างปาข้าวของอยู่ในบ้านจนเสียหาย จนถึงขั้นที่มีคนแจ้งตำรวจ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปถึง ก็พบว่าเธอกำลังยืนอยู่ที่ระเบียงชั้นบนและพยายามจะกระโดดลงมา
ในเวลาต่อมา เสี่ยวอวี๋ ก็ได้รับการนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งทีมแพทย์ได้วินิจฉัยอาการของเธอและเริ่มต้นกระบวนการรักษา แพทย์หญิงตู้น่าชี้ว่า หลังจากรักษาตัวมา 3 ปีซึ่งเป็นระยะการรักษาตามปกติของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อย่างรุนแรง เสี่ยวอวี๋ ก็เริ่มมีอาการดีขึ้น อารมณ์ของเธอมั่นคงมากขึ้น
ตู้น่าอธิบายว่า หากผู้ป่วยโรคคลั่งรักมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์ด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง ก็จำเป็นต้องใช้ยาเข้ามาช่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการหนักมักมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเอง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นคิดจบชีวิตตัวเองได้
ที่มา : nextshark.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES