วารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช เลตเตอร์ส เพิ่งเผยแพร่ผลงานกรณีศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการสูบน้ำขึ้นมาจากใต้ดินเพื่ออุปโภคบริโภค โดยเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือผลกระทบที่ทำให้แกนหมุนของโลกเอียงมากกว่าเดิมไป 31.5 นิ้ว ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลโดยรวมสูงขึ้น 0.24 นิ้ว

คี-วอน ซอ นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยในครั้งนี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า กรณีศึกษาของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากหลายสาเหตุนั้น การนำน้ำขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อองศาการเอียงของแกนหมุนของโลก

โลกนั้นเคลื่อนไหวหรือหมุนรอบตัวเองโดยมีแกนหมุนเป็นจุดศูนย์กลาง การกระจายตัวของน้ำบนผิวโลกจะส่งผลกระทบต่อการกระจายตัวของมวลโลก คี-วอน ซอ อธิบายด้วยการเปรียบเทียบว่า เหมือนกับการเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีกเล็กน้อยที่บริเวณยอดของจุดหมุนและทำให้การหมุนของโลกเปลี่ยนไปเล็กน้อย เมื่อมีปริมาณน้ำเคลื่อนตัว

เมื่อปี 2559 องค์การนาซาเคยตีพิมพ์กรณีศึกษาที่ระบุว่า การกระจายตัวของปริมาณน้ำบนผิวโลกสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะการหมุนรอบตัวของโลก และกรณีศึกษาล่าสุดนี้ก็เท่ากับเพิ่มความน้ำหนักให้ประเด็นนี้มากขึ้น และเป็นการไขปริศนาว่าทำไมแกนหมุนของโลกจึงเลื่อนไหลหรือเปลี่ยนตำแหน่ง

กรณีศึกษานี้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2536 – 2553 มีตัวเลขของการสูบน้ำจากใต้ดินอยู่ที่ 2,150 กิกะตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แกนหมุนของโลกเอียงเพิ่มขึ้นประมาณ 31.5 นิ้ว และยังอาจทำให้มหาสมุทรย้ายตำแหน่งอีกด้วย โดยน้ำส่วนใหญ่ถูกสูบขึ้นมาเพื่อการชลประทานและให้มนุษย์บริโภค 

การเคลื่อนตัวของน้ำบนผิวโลกมีความสำคัญมาก การกระจายตัวของมวลน้ำจากพื้นที่แถบเส้นละติจูดกลางจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น การสูบน้ำใต้ดินอย่างดุเดือดในแถบตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือและแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียคือตัวการสำคัญที่ทำให้แกนหมุนของโลกเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม

การค้นพบครั้งล่าสุดนี้ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าการเคลื่อนตัวของน้ำใต้ดินส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อโลก และการเฝ้าสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของแกนหมุนของโลกก็มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของระดับการกักเก็บน้ำในทวีปต่าง ๆ 

ข้อมูลเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในแง่ของการนำมาใช้ในการศึกษาและแก้ไขปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกิดต่อเนื่องตามมาด้วย

ที่มา : popularmechanics.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES