เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 มีการเผยแพร่รายงานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่าดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 469219 ชื่อว่า Kamo’oalewa ที่มีวงโครจรใกล้โลกนั้น อาจจะถูกเหวี่ยงสู่อวกาศเมื่อมีก้อนหินที่มีความกว้าง 1.6 กม. พุ่งชนดวงจันทร์ ทำให้ชิ้นส่วนของดวงจันทร์หลุดออกมาเป็นดาวเคราะห์น้อย Kamo’oalewa  ซึ่งต่อมาได้รับชื่อเล่นว่าเป็น “ดวงจันทร์น้อย” 

นอกจากนี้ การพุ่งชนดังกล่าวยังได้ทิ้งร่องรอยเป็นหลุมยักษ์บนพื้นผิวของดาวบริวารของโลก ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า หลุม Giordano Bruno

ภาพจำลองของ โลก (บนสุด) ดาวเคราะห์น้อย Kamo’oalewa (กลาง) และดวงจันทร์ (ขวาสุด)

ข้อสันนิษฐานนี้มาจากการสังเกตลักษณะการสะท้อนแสงของ Kamo’oalewa ที่ใกล้เคียงกับก้อนหินบนพื้นผิวของดวงจันทร์ รวมทั้งขนาดและอายุของมันที่เข้ากับหลุม Giordano Bruno ที่กว้างราว 22 กม. ได้อย่างลงตัว

ดาวเคราะห์น้อย Kamo’oalewa ถูกค้นพบเมื่อปี 2559 โดยหอสังเกตการณ์ Haleakala ในฮาวาย มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30-60 เมตร หรือมีขนาดพอ ๆ กับเครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของเราบนเส้นทางเดียวกับโลก และบางครั้งก็เข้ามาใกล้มากโดยอยู่ห่างจากโลกเพียง 16 ล้านกม.

ประเทศจีนมีแผนการที่จะเปิดตัวโครงการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Kamo’oalewa ในปี 2568 ชื่อว่าโครงการ Tianwen-2 ซึ่งจะเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้โดยใช้เวลาราว 2 ปีครึ่ง 

ที่มา : livescience.com

เครดิตภาพ : Addy Graham/University of Arizona