เมื่อวันที่ 27 เม.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 สั่งการให้ พ.ต.อ.กฤติน ตปสีโล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.1 พ.ต.ท.เอนก ยอดหมวก รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯพ.ต.ท.ภาสกร กันประดับ พ.ต.ท.นพดล บุตรวงษ์ พ.ต.ต.สันติ ชื่นชม สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคใต้) จังหวัดเพชรบุรี หลังสืบทราบว่า มีการชักชวนซื้อขายเครื่องขุดบิทคอยน์ในลักษณะที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาด โดยเก็บค่าดูแลและค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริง และอาจจะมีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

จากการตรวจค้นที่จุดแรก โรงเจศาลเจ้าพ่อชื่อดังแห่งหนึ่งใน ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พบเหมืองบิทคอยน์ ทำเป็นอาคารทึบ อยู่บริเวณโรงจอดรถศาลเจ้าดังกล่าว มีนายสมบัติ (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเหมืองดังกล่าว จากการตรวจค้นพบ เครื่องขุดบิทคอยน์ ประกอบการในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 187 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าพบว่า มีการดัดแปลงบริเวณมิเตอร์ไฟฟ้าทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติจริง จึงได้ตรวจยึดเครื่องขุดดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

ส่วนจุดที่สองเข้าตรวจค้นที่โกดังแห่งหนึ่ง บริเวณเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี พบเหมืองบิทคอยน์ ทำเป็นอาคารทึบ มีนายสมหวัง (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเหมืองดังกล่าว โดยมีนายนายเกียรติก้อง (สงวนนามสกุล) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องขุด ดูแลอาคารและเครื่องขุดดังกล่าว จากการตรวจค้นพบ เครื่องขุดบิทคอยน์ ประกอบกอบในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 465 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าพบว่า มีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติจริง จึงได้ตรวจยึดเครื่องขุดดังกล่าว ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

จากการสอบถามนายสมบัติและนายสมหวังให้การว่า ได้ประกอบการขายเครื่องขุดบิทคอยน์ โดยได้นำเข้าเครื่องมาจากประเทศจีน ผ่านพิธีศุลกากรถูกต้อง และนำมาจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป โดยหากลูกค้าที่ซื้อเครื่องขุดแล้ว ตนเองจะรับฝากเครื่อง โดยคิดค่ารับฝากรวมค่าไฟฟ้า เป็นเงิน 6,200 บาท เท่านั้น ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่า ตามปกติแล้ว เครื่องขุดบิทคอย์ดังกล่าว หากมีการเปิดขุดตลอดทั้งเดือนจะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 9,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง จะเห็นได้ว่า ในการรับฝากวางนั้น คิดราคาค่าไฟฟ้าและค่าดูแลเพียง 6,200 บาท นั้น เป็นการจูงใจให้นักขุดสนใจ และทั้งสองเหมืองดังกล่าว ได้เปิดมาแล้วประมาณ 2 เดือน

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเบื้องต้น แจ้งว่า เป็นการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าให้ไฟฟ้าผ่านมิเตอร์ไม่เต็มตามกระแสไฟฟ้าที่ใช้จริง มีบางส่วนเป็นการต่อกระแสไฟฟ้าไม่ผ่านมิเตอร์ ซึ่งได้คำนวณค่าไฟฟ้าที่เสียหายเบื้องต้น ทั้งสองจุดประมาณ 5 ล้านบาท

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยว่า ได้ทำการสืบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพบว่า มีการหลอกลวงลงทุน ซื้อหรือเช่ากำลังขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แบบ Cloud Mining สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนี้ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส ใช้โค้ดคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่า ผ่านอินเทอร์เน็ต มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทเป็นกระแส และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ต่างเข้ามาเก็งเพื่อกำไรในตลาด แต่ก็เป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหาช่องว่างในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือการเช่าหรือซื้อกำลังขุดสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Tether (USDT), Binance Coin (BNB), Dogecoin (DOGE) เป็นต้น

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยอีกว่า ในช่วงนี้ราคาคริปโตเคอเรนซี่ในตลาด มีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ในหลายๆ สกุลเงินดิจิตอล โดยเฉพาะเหรียญบิทคอยน์นั้น มีราคาพุ่งไปแตะ 2.5 ล้านบาท ทำให้น่าลงทุนในการซื้อเครื่องขุดมาทำการขุด แต่ต้องระมัดระวังในการซื้อและฝากวางเครื่องกับเหมืองต่างๆ นั้น ต้องดูให้ดี เหมืองที่จูงใจโดยการรับฝากในราคาที่น้อยกว่าปกติ ไม่สมเหตุสมผลกับค่าไฟฟ้าที่แท้จริง นั้นทางเหมืองอาจจะมีการลักไฟฟ้ามาเพื่อทำการขุดเหรียญ ซึ่งถ้าถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ตรวจยึด ท่านอาจจะได้รับความเสียหายจากฝากวางเครื่องได้ สำหรับของกลางที่สามารถตรวจยึดได้นั้น ประกอบด้วย เครื่องขุดบิทคอยน์รุ่นต่างๆ ราคาประมาณ 3.5 แสนบาท จำนวน 652 เครื่อง มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท และมิเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกดัดแปลง จำนวน 2 มิเตอร์ มูลค่าความเสียหายจากค่าไฟฟ้า ประมาณ 5 ล้านบาท.