เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2567 นับเป็นครั้งแรกที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำถึง 3 รอบ โดยขณะนี้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 รอบ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยครั้งแรก คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง หรือไตรภาคี) ชุดที่ 22 มีมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ปรับเพิ่มค่าจ้างฯ ทั้งประเทศ มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 อัตรา 2-16 บาท ทำให้การปรับรอบแรกนั้น ไม่มีจังหวัดใดที่ค่าจ้างขั้นต่ำแตะถึง 400 บาท และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยมองว่า การปรับค่าจ้างรอบนั้น มีจังหวัดที่ได้ขึ้นค่าจ้างเต็มที่แค่ 2 บาท ซื้อไข่ไก่ 1 ฟอง ก็ยังไม่ได้ ต่อมา บอร์ดค่าจ้าง จึงได้มีการประชุมพร้อมปรับสูตรคำนวณการเพิ่มค่าจ้างใหม่ อิงจากภาวะเงินเฟ้อ และประเภททักษะฝีมือแรวงาน และมีมติเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 มีผลเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ในกลุ่มแรงงานภาคบริการโรงแรมขนาด 4 ดาวขึ้นไป เฉพาะบางพื้นที่ใน 10 จังหวัด

จากนั้น เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการไตรภาคีก็มีมติให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรอบที่ 3 ของปี 2567 โดยให้กรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัดกลับไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึง 400 บาท ในบางกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ กิจการแปรรูปอาหารทะเล กิจการส่งออกสินค้า โดยให้เวลาในการศึกษาระยะเวลา 2 เดือน คาดว่า ทั้งหมดจะมีความชัดเจนในเดือน ก.ค. 67  

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เตรียมที่จะนำเรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรอบที่ 3 นี้ เป็นของขวัญในวันแรงงาน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค. 67 ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ หรือเมย์เดย์ นายพิพัฒน์ จึงได้ออกมาอธิบายว่า อาจจะเป็นความสับสนในการสื่อสาร เพราะในวันที่ 1 พ.ค. 67 นั้น จะเป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ว่า จะมีการเพิ่มค่าจ้างฯ อีกครั้งภายในปี 2567 และยังต้องมีการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีอีก แต่คาดว่า จะสามารถประกาศเพิ่มค่าจ้างฯ รอบ 3 ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 สำหรับการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ครั้งต่อไปคือวันที่ 14 พ.ค. 67 นี้