สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่าธนาคารโลกเรียกร้องให้ปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะใหญ่ที่สุดในโลก จัดการกับวิกฤติทุนมนุษย์ และลงทุนให้ความรู้แก่เด็ก ที่กำลังประสบปัญหาอัตราเจริญเติบโตด้อยกว่าปกติและไม่รู้หนังสือ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคง

รายงานเศรษฐกิจประจำปีของปาปัวนิวกินี แสดงให้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 2.7 เมื่อปี 2566 หรือครึ่งหนึ่งของปี 2565 เนื่องจากความล่าช้าในการกลับมาเปิดเหมืองทองคำพอร์เกอรา ในจังหวัดเอนกา ทางตอนเหนือของประเทศ และอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง

ด้วยเหตุนี้ รายงานได้เสนอให้มีการลงทุนกับผู้คนในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากร

“วิกฤติทุนมนุษย์” ในปาปัวนิวกินีส่งผลให้เด็กเกือบครึ่งหนึ่งมีภาวะเจริญเติบโตช้า และได้รับผลกระทบกับการพัฒนาสมอง มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อ่านหนังสือได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรเป็น เนื่องจากเข้าโรงเรียนช้า

มากไปกว่านั้น รายงานได้แนะนำให้รัฐบาลจัดเตรียมหนังสือเรียนและห้องน้ำ ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์พื้นฐาน หลังมีข้อสังเกตว่าเด็กจำนวนมากหิวเกินกว่าจะเรียนรู้

นอกจากนั้น การขาดงานเป็นประจำของครูผู้สอนส่งผลต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียน เนื่องจากบุคลากรที่ไม่ได้ผ่านการอบรมที่ดี โดยปัญหาดังกล่าวอาจแก้ไขได้ด้วยการจัดเตรียมแผนการสอนอย่างเป็นระบบ

นายลาร์ส ซอนเดอร์การ์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของเวิลด์แบงก์ ระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในชุมชนเมือง และในชนบทห่างไกลของปาปัวนิวกินี

เขาอธิบายด้วยว่า การเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเด็ก ๆ ออกจากโรงเรียนเร็วเกินไป และไม่มีความในสามารถในการเป็นกำลังผลิตของประเทศ

“คุณต้องมีรากฐานที่มั่นคงและต้องเริ่มต้นอย่างเร่งด่วน” นายซอนเดอร์การ์ดให้ข้อมูลอีกว่า จำนวนประชากรอายุ 20 ถึง 24 ปีในปาปัวนิวกินี จะเพิ่มขึ้นจาก 830,000 คนเป็น 1.2 ล้านคน ภายในปี 2593

ปาปัวนิวกินีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย มีประชากรอย่างเป็นทางการ 9 ล้านคน และประสบปัญหาการจลาจลในกรุงพอร์ตมอร์สบี เมืองหลวงของประเทศ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำลายภายธุรกิจบางส่วน

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลได้ทำข้อตกลงร่วมกับออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ได้มีข้อตกลงด้านกลาโหมกับสหรัฐอเมริกา เพื่อปรับปรุงท่าเรือและสนามบิน และต้องการเพิ่มการค้ากับจีน

“ในสังคมที่มีความรุนแรงและอาชญากรรมในระดับสูง การมีประชากรวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีหลักประกันในการฝึกอบรม, การศึกษา หรือการจ้างงาน อาจทำให้การพัฒนาในอนาคตตกอยู่ในความเสี่ยง” รายงานระบุ

ซอนเดอร์การ์ดกล่าวทิ้งท้ายว่า การศึกษาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุข, เจริญรุ่งเรือง และไม่น่ากังวล ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาให้ข้อคิดเห็นว่า รัฐบาลต้องจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม เนื่องจากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายต่อนักเรียนหนึ่งคนลดลงถึงร้อยละ 20 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : AFP