ในวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ทั่วโลกต่างร่วมเฉลิมฉลอง ‘วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก’ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงบทบาทอันทรงพลังของสื่อมวลชนในฐานะกระบอกเสียงของประชาชนที่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสังคม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใส รายงานข้อเท็จจริง กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการ ‘ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้นำไปสู่ความยั่งยืน’ ได้อย่างแท้จริง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เสรีภาพสื่อทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคาม นักข่าวหลายคนถูกคุกคาม ทำร้าย และลอบสังหาร เพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา การเซ็นเซอร์ข่าวสาร การปิดกั้นสื่อ และการบิดเบือนข้อมูล ล้วนเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออกและส่งผลต่อสิทธิของคนในสังคม ดังนั้นการที่สังคมคุณภาพจะเกิดขึ้นได้จริง ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียง ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สอดคล้องกับ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในมิติความยั่งยืนด้านสันติภาพและสถาบัน (Peace) ซึ่งคลอบคลุมเป้าหมายที่ 16 คือการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ

เช่นเดียวกันกับ ‘ยูเนสโก’ (UNESCO) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ที่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว จึงเปิดตัวแคมเปญ ‘เรื่องนี้ต้องบอก’ (This story must be told) เป็นแคมเปญที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักข่าวและช่างภาพข่าว ในการเปิดเผยเรื่องราวที่สมควรได้รับการบอกเล่า โดยระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนทั่วโลกอีกด้วย โดยเรื่องราวความยากลำบากที่เป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศของพวกเขา สมควรที่จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ แม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะไม่ได้สวยงามเสมอไป ทว่าความตระหนักรู้สามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ การส่งต่อเรื่องราวจากวิกฤตดังกล่าวจึงถือเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบทบาทของนักข่าวจึงมีความสำคัญ

ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมแคมเปญได้นำภาพถ่ายและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งที่เคยได้รับการเผยแพร่แล้วและยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ มาบอกต่อ อาทิ ภาพถ่ายของ เมห์ดี โมเฮบบีปูร์ ช่างภาพชาวอิหร่าน ที่ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของกองกำลังสิ่งแวดล้อมในการรวบรวมซากนกที่ตายแล้ว และควบคุมการแพร่กระจายของโรคที่ส่งผลกระทบต่อนกในพื้นที่ชุ่มน้ำของอิหร่าน สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดผลร้ายแรงต่อสัตว์นานาชนิด

“ภาพถ่ายเหล่านี้เตือนให้เราหันมาใส่ใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น และตอกย้ำว่าการตายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยไปกว่าการตายของมนุษย์”  โมเฮบบีปูร์ กล่าว

ภาพถ่ายของ อแลง ชโรเดอร์ ช่างภาพชาวเบลเยียม เป็นภาพของเด็กสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ริมหน้าต่าง และจ้องมองออกไปยังถนนที่มีน้ำท่วม ในกรุงจาการ์ตา ขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่ใกล้จะเกิดขึ้นจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 เกาะหลายพันแห่งของอินโดนีเซียและเกือบหนึ่งในสามของเกาะชวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตาจะจมอยู่ใต้น้ำ

“ถ้าเราเป็นช่างภาพข่าว แต่ไม่เผยแพร่ความเป็นจริงในชีวิตของพวกเขา แล้วใครจะทำล่ะ? เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเพิกเฉยและละเลยต่อสถานการณ์ดังกล่าวได้ง่ายอยู่แล้ว” อแลง ชโรเดอร์ กล่าว

ภาพถ่ายของ พริวิลเลจ มุสวานหิรี ช่างภาพชาวซิมบับเว เป็นภาพหนึ่งในผู้เสียชีวิตอันน่าสลดใจจากความร้อนแรงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ ‘ช้างในเขตอนุรักษ์สัตว์’ ที่ใหญ่ที่สุดของซิมบับเว อุทยานแห่งชาติฮวังเก ซึ่งมีช้างมากกว่า 45,000 ตัว เป็นพยานถึงการเสียชีวิตของสัตว์คู่บารมีเหล่านี้กว่า 100 ตัว เนื่องจากภาวะขาดน้ำ อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ 14,600 ตารางกิโลเมตร เผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงจากภัยแล้ง และรุนแรงขึ้นจากการไม่มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน เนื่องจากการพึ่งพาหลุมเจาะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันกำลังถูกขัดขวางจากระดับน้ำที่ลดน้อยลง

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มันอยู่ใกล้แค่เอื้อม เราเป็นหนี้คนรุ่นอนาคตที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต” มุสวานหิรี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมี ภาพถ่ายของ มานูเอล เซียน ช่างภาพชาวโบลิเวีย เป็นภาพที่ รูฟิโน โชค หนึ่งในสมาชิกของชุมชนพื้นเมืองเมืองอูรุส ยืนอยู่บนเรือกลางทะเลสาบพูโป ในโบลิเวีย ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งผืนน้ำแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร แต่ต่อมาได้ถูกประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นแห้งเหือดและสาบสูญไปในปี 2015

“ในฐานะช่างภาพและนักอุทกวิทยา ผมเชื่อว่างานทั้งหมดของผม คือการมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและเปิดเผยสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอันรุนแรงที่เราเผชิญอยู่ทั่วโลก ซึ่งมนุษย์เราควรเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่” เซียน กล่าว

ทั้งนี้ ยังมีผลงานภาพถ่ายและเรื่องราวต่าง ๆ จากช่างภาพทั่วทุกมุมโลกอีกมากมาย ที่ส่งเข้ามาบอกเล่าในแคมเปญ ‘เรื่องนี้ต้องบอก’ (This story must be told) ที่ยูเนสโกจัดขึ้น เพื่อผลักดันในเรื่องของเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนสังคมให้นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : ยูเนสโก (UNESCO)

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]