“ผีเสื้อ” มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเป็นที่ยอมรับแพร่หลายว่าเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็น “ตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ” ทั้งนี้ นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(TEI) รวบรวมเปิดเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผีเสื้อ จิ๊กซอว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ พร้อมแนะนำการท่องเที่ยวแบบไม่ทำลาย

ผีเสื้อในโลกมีมากถึง 200,000 ชนิดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามพฤติกรรมการหากินและรูปร่างลักษณะคือ ผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) เป็นพวกออกหากินตอนกลางวัน มีลำตัวเพรียว ผีเสื้อกลางคืน (Moth) ออกหากินในเวลากลางคืน มีลำตัวขนาดใหญ่ และ ผีเสื้อบินเร็ว (Skippers) ส่วนใหญ่ออกหากินตอนกลางคืนและบางชนิดหากินตอนเช้ามืด

ผีเสื้อกลางคืน

“ผีเสื้อแต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัยและกินอาหารที่แตกต่างกัน เมื่อผีเสื้อตัวเมียถูกผสมพันธุ์จะวางไข่บนพืชที่เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อเท่านั้น เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอน หนอนจะกัดกินพืชนั้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต จนกระทั่งกลายเป็นดักแด้ถึงจะหยุดกิน และพัฒนากลายเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย ดูดน้ำหวานของดอกไม้เป็นอาหาร”

มีบางชนิดกินผลไม้เน่า น้ำเลี้ยงต้นไม้ และมูลสัตว์เปียก ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผีเสื้อจะกินอาหารที่เฉพาะเจาจง หากพืชอาหารของผีเสื้อชนิดนั้นหมดไปหรือสูญพันธุ์ ผีเสื้อชนิดก็จะมีโอกาสที่สูญพันธุ์ไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผีเสื้อยังเป็นผู้ช่วยผสมเกสร เป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยขยายพันธุ์พืชที่เป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงเป็นอาหารหลักของมนุษย์

 “พื้นที่ใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผีเสื้อ จะพบเห็นผีเสื้อที่หลากหลายชนิด แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในขณะเดียวกัน ผีเสื้อยังเป็นอาหารให้กับบรรดานกและสัตว์ต่าง ๆ

“ ผีเสื้อจึงมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในระบบห่วงโซ่อาหาร และด้วยผีเสื้อกลางวัน มีสีสันสดใส เด่นสะดุดตา มีรูปร่างที่สวยงามและมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จึงดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความนิยมและจัดให้มีฤดูกาลดูผีเสื้อคือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยพบผีเสื้อนานาชนิดกว่า 250 ชนิด และพบได้มากในช่วงฤดูร้อน”

ภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคาม สามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและดูแลรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อให้คงสภาพที่ดี รวมถึงสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในการชมผีเสื้อที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งทำได้โดยไม่จับ สัมผัส ให้อาหารหรือรบกวนผีเสื้อแและไม่เก็บผีเสื้อหรือปีกผีเสื้อกลับมา

เดินทางด้วยความเงียบสงบ ระมัดระวังไม่เดินเหยียบผีเสื้อหรือทำให้แหล่งน้ำเกิดความสกปรก ไม่ส่งเสียงรบกวน ทั้งสวมใส่เสื้อผ้าสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ลดการเกิดขยะใช้เท่าที่จำเป็น แยกประเภท และทิ้งถูกที่ และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่.