เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม อาจเกิดสถานการณ์พายุฤดูร้อน เกิดฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ขอให้สถานศึกษาระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากสิ่งของหรือสิ่งปลูกสร้างร่วงหล่นใส่จนได้รับอันตราย รวมถึงการดูแลตนเองในช่วงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจเกิดการเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ได้ และไม่ประมาทจากการทำงาน โดยหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัดและพื้นที่แออัด

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีข้อห่วงใยกับสถานการณ์ที่เกิด และให้หน่วยงานในกำกับ กำชับดูแลสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งเรื่องของพายุฝน สภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่ง สอศ. ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน จึงให้สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบรายงานความเสียหาย พร้อมสั่งการไปยังสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) หรือจังหวัดใกล้เคียง เข้าตรวจสอบพื้นที่พร้อมจัดศูนย์อาชีวะอาสา (Fix it Center) ออกให้ดูแลในเบื้องต้น และรายงานมายัง สอศ. และได้กำชับให้สถานศึกษาดำเนินการในเบื้องต้น ดังนี้ ตรวจความพร้อมและความปลอดภัยของอาคาร สถานที่ในสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการใช้งาน เฝ้าระวังและติดตามสถาณการณ์ การแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ แจ้งสถานการณ์พายุฤดูร้อนไปยังนักเรียน นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวัง

เตรียมความพร้อมรับมือเพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุ จัดชุดเฝ้าระวังหรืออุปกรณ์แจ้งเตือนต่างๆ พร้อมรายงานผู้บังคับบัญชาทันทีเมื่อมีเหตุ พิจารณาการจัดเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ กรณีที่มีสถานการณ์พายุฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนจัดหรือมีเหตุอาจส่งผลกระทบถึงนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษา เช่น ปรับการจัดการเรียนเป็นแบบ Online แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสำรวจความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น และให้การดูแลสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น เช่น จัดหาสถานที่ในการดูแล

ทั้งนี้ หากมีเหตุเกิดขึ้นในสถานศึกษา ให้สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดทั่วประเทศดูแลสถานศึกษา หรือเกิดเหตุรุนแรงแจ้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเข้าช่วยเหลือและดูแลได้ทันท่วงที พร้อมติดตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มช่องทางการประสานงาน ระหว่างหน่วยงานและบุคลากร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก่อนเปิดภาคเรียนที่จะถึง และรายงานมายัง สอศ. เพื่อดำเนินการต่อไปได้ทันที