สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ว่า สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เตรียมซื้อเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (เอสเอเอฟ) จำนวน 1,000 ตัน จากเนสเต โดยถือเป็นการซื้อเชื้อเพลิงการบินคาร์บอนต่ำ จากโรงกลั่นของบริษัทจากฟินแลนด์ครั้งแรก

สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ร่วมลงนาม ซื้อเอสเอเอฟจากเนสเต เพื่อนำมาผสมกับเชื้อเพลิงทั่วไปสำหรับใช้งาน โดยเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำนี้ จะถูกนำไปใช้กับสายการบินในเครือ รวมไปถึงสายการบินราคาประหยัดอย่างสกู๊ต

เนสเตขยายโรงกลั่นเชื้อเพลิงในชางงีเสร็จสิ้นเมื่อปี 2566 และมีแผนจะผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนให้ได้ 1 ล้านตันต่อปี ทำให้โรงกลั่นดังกล่าว กลายเป็นโรงกลั่นเชื้อเพลิงเครื่องบินพลังงานสะอาด ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยเนสเตจะเริ่มส่งมอบเอสเอเอฟให้กับระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสนามบินชางงี ในไตรมาสที่ 2 และ 4 ของปีนี้

เชื้อเพลิงการบินพลังงานสะอาด มาจากของเสียหมุนเวียนและวัตถุดิบตกค้างถึงร้อยละ 100 ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 80 ตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิง

นายอเล็กซานเดอร์ คูเปอร์ รองประธานฝ่ายการบินหมุนเวียนของเนสเต กล่าวว่า “การจัดหาเอสเอเอฟที่ผลิตในท้องถิ่นให้กับสนามบินชางงี ถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบิน และรัฐบาลในภูมิภาคนี้ บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” โดยเขาหวังว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการยอมรับเอสเอเอฟในวงกว้าง ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่าจะให้สายการบินต่าง ๆ ที่เดินทางออกจากประเทศ เริ่มใช้เชื้อเพลิงการบินคาร์บอนต่ำตั้งแต่ปี 2569 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนอุตสาหกรรมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้สายการบินต่าง ๆ ใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินผสมที่มีเอสเอเอฟร้อยละ 1 ภายในปี 2569 และทยอยเพิ่มขึ้นเป็นระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 5 ภายในปี 2573 ทั้งนี้ เอสเอเอฟสามารถผสมรวมกับเชื้อเพลิงเครื่องบินได้มากถึงร้อยละ 50

อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำนี้มีราคาสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินถึงประมาณ 3 ถึง 5 เท่า และเจ้าหน้าที่อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากราคาตั๋วเพื่อช่วยลดต้นทุนของสายการบิน

อุตสาหกรรมการบินมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ประมาณร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 3 และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำจัดก๊าซคาร์บอนได้ยากที่สุด ขณะนี้ เอสเอเอฟจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคการบิน อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายแล้ว เทคโนโลยีของเอสเอเอฟยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ได้มีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมการบิน บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES