จากกรณี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นบินสำรวจพื้นที่ต่างๆ บนเกาะสมุยกระทั่งพบว่า บริเวณ เขาหมาแหงน หรือเขาเฉวงน้อย ต.บ่อผุด, เขาละไม ต.มะเร็ต, เขาท้ายควาย ต.ลิปะน้อย, เขาแหลมใหญ่ ต.แม่น้ำ, เขาเตย ต.แม่น้ำ และ เขาพระ ต.บ่อผุด พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย โดยก่อสร้างอาคารฝ่าฝืนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557 เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ที่ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารทุกประเภท ยกเว้นสิ่งก่อสร้างเพื่อประโยชน์ทางราชการบนพื้นที่ที่ลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 หรือ เกินกว่า 26.57 องศา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

แม่ทัพภาค 4 บินสำรวจ 7 จุด ธุรกิจวิลล่าหรูต่างชาติเกาะสมุย พบ 6 จุด ผิดกฎหมาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. มีรายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากมีการลงพื้นที่สำรวจหลายจุดที่ถูกบุกรุกแล้ว ภายหลังทำให้ทราบว่า จุดที่พบกระทำผิดมากสุด คือ “เขาหมาแหงน” หรือ “เขาเฉวงน้อย” พื้นที่ ต.บ่อผุด เนื้อที่เกือบทั้งหมด ประมาณ 1,000 ไร่ ถูกปลูกสร้างเป็นวิลล่าหรูแล้วเสร็จประมาณ 100 หลัง และส่วนหนึ่งกำลังมีการก่อสร้าง โดยคาดว่ามีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการทำงานของชุดตรวจสอบที่ดิน กอ.รมน.ภ.4 เบื้องต้นพบด้วยว่า วิลล่าหรูและที่ดินบนเขาเฉวงน้อย ถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติ ในนามนิติบุคคล จำนวน 43 ราย บริการทั้งแบบให้เช่า และซื้อขาย

เมื่อตรวจสอบต่อไปทำให้พบว่า มีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ คณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐฯ ได้ยื่นระงับการออกโฉนดในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว หลังพบว่ายังคงมีความพยายามยื่นขอออกเอกสารสิทธิอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังจะได้เร่งแปลภาพถ่ายทางอากาศกรมป่าไม้กับแผนที่ทหาร เพื่อนำมาเป็นหลักฐานใช้เอาผิดผู้เกี่ยวข้องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ

ขณะเดียวกันคณะพนักงานสอบสวน กอ.รมน.ภาค 4 ยังได้เร่งทำการสอบสวนขยายผลรวบรวมเอกสารการได้มาของที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิ พร้อมตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลของบุคคลต่างด้าว โดยเน้นตรวจสอบผู้ถือหุ้นชาวไทยถึงเส้นทางการเงิน และที่มาของเงินที่นำไปลงทุนว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ไปเป็นนอมินีให้กับชาวต่างชาติ

พ.อ.สนิท มีแสง อดีตนายทหารประจำ มทบ.45 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา ผอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยกับ “เดลินิวส์” ว่า ขณะตนรับราชการเมื่อปี 2560 ได้รับมอบหมายให้เข้าแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน, ปัญหาการถือครองที่ดินและการทำธุรกิจของชางต่างชาติบนเกาะสมุยช่วงรัฐบาล คสช. ในขณะนั้นได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและการถือครองที่ดิน ซึ่งในการเข้าสอบครั้งนั้น คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เข้าจับกุมและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทางกฎหมาย อย่างน้อย 6-7 คดี โดยเฉพาะในพื้นที่เขาหมาแหงน ต.บ่อผุด ซึ่งหลังจากส่งสำนวนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หน่วยงานเหล่านั้นก็ได้เรียกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกหลายครั้งแต่สุดท้ายคดีไม่คืบและจนถึงปัจจุบันก็ยังทราบว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ

พ.อ.สนิท กล่าวด้วยว่า ตนเกิดและเติบโตที่เกาะสมุย แม้ว่าจะไม่เคยทำงานรับผิดชอบในพื้นที่ก็ตามแต่ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกาะสมุยเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และเป็นที่นิยมทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามองเห็นถึงผลประโยชน์ในการทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยประกอบกับคนไทยเรายังขาดศักยภาพในการลงทุน ทำให้มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินและเริ่มทำธุรกิจ เป็นจังหวะเดียวกันเมื่อประมาณปี 2537 กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินได้มีนโยบายเดินออกสำรวจโฉนดที่ดิน จากเอกสาร ส.ค. ที่มีข้อกำหนดว่าเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค.ที่ได้มาก่อนปี 2497 สามารถออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 35 ได้ทันที

ตอนนั้นทำให้มี เอกสาร ส.ค.จากพื้นที่ราบถูกนำไปออกโฉนดบนพื้นที่ลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ถูกนำไปขายให้บริษัทนิติบุคคลของชาวต่างชาติที่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายอาศัยช่องว่างจดทะเบียนให้บริษัทนิติบุคคลนั้นมีสัญชาติเป็นบริษัทของไทย

“…เมื่อมีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างและกระบวนการขออนุญาตประกอบธุรกิจก็ทำได้ โดยไร้การควบคุม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการประกาศใช้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2557 ซึ่งนายอำเภอท้องที่เป็นประธานกรรมการควบคุมและมีนายกเทศมนตรีท้องที่เป็นรองประธานควบคุม แต่เท่าที่ที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างจะเข้าไปตรวจสอบให้เป็นไปตามประกาศกระทรวง เมื่อสอบถามไปยังเทศบาลผู้ซึ่งมีอำนาจออกใบอนุญาตก่อสร้าง และเป็นผู้ถือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คำตอบที่ได้รับก็คือเมื่อผู้ประกอบการมายื่นขอ หากมีเอกสารสิทธิที่ดินครอบครองถูกต้องก็อนุญาตให้ทุกรายไป ซึ่งเหตุการณ์จะเกิดขึ้นวนอย่างนี้ไปตลอดและไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกวดขันแต่อย่างใด ในความเห็นส่วนตัวที่ไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ตนมองว่าผู้ที่ถือกฎหมายของแต่ละส่วนมีความละเลยในการกวดขันและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมา ปัญหาของเกาะสมุยจึงสะสมและลุกลามบานปลายจนไม่สามารถแก้ไขได้…” ที่ปรึกษา ผอ.รมน.ภาค 4 กล่าว.