สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า ฟันทั้งสี่ซี่สามารถสืบย้อนไปถึงยุคมาสทริชเชียน (Maastrichtian) ซึ่งตรงกับยุคครีเทเชียสตอนปลาย โดยตัวอย่างฟัน 3 ใน 4 ซี่ ถูกค้นพบ เมื่อปี 2553 โดยผู้ที่สนใจเกี่ยวกับฟอสซิล ในเมืองซื่อฮุ่ย ซึ่งได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเวลาต่อมา


ส่วนฟันอีกซี่ค้นพบโดยนักวิจัยคนหนึ่ง บริเวณสถานที่ก่อสร้าง ในเมืองกว่างโจว เมื่อปี 2563 และปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในชุดสะสม ของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น


ฟันทั้งสามซี่ที่ค้นพบในซื่อฮุ่ย ยังอยู่ในสภาพดีอย่างมาก โดยมีปลายฟันยาวเกิน 6 เซนติเมตร ส่วนชิ้นส่วนฟันที่พบในกว่างโจวนั้นมีความยาว 3.3 เซนติเมตร ทว่าฟอสซิลทั้งสี่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาคล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงส่วนขอบที่หยักเล็กน้อย และมีผิวเคลือบฟันที่เรียบ


ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารครีเทเชียส รีเสิร์ช เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า ลักษณะเหล่านี้สอดคล้องกับฟันของไดโนเสาร์วงศ์ไทแรนโนซอรอยเดีย และเป็นหลักฐานที่แบ่งแยกความแตกต่างจากฟอสซิลที่พบในไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อื่น ๆ


รศ.สิงลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน วิทยาเขตปักกิ่ง เผยว่า ไทแรนโนซอรอยเดียเป็นไดโนเสาร์เดิน 2 ขาพันธุ์กินเนื้อ ซึ่งมีขนาดลำตัวที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เป็นไดโนเสาร์ที่มีความโดดเด่นในช่วงกลางและปลายยุคครีเทเชียส โดยไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) มีความยาวมากกว่า 12 เมตร ถือเป็นสายพันธุ์ในวงศ์ไทแรนโนซอรอยเดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด


อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับฟันของไดโนเสาร์วงศ์ไทแรนโนซอรอยเดียอื่น ๆ ที่พบในจีน ขนาดของฟอสซิลทั้งสี่นั้น ถือว่ามีขนาดเล็ก และทีมนักวิจัยกำลังเผชิญกับความยากลำบาก ในการประมาณการความยาวลำตัวแบบที่แม่นยำของไดโนเสาร์เจ้าของฟอสซิลฟัน เนื่องจากไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนของฟันในปากไดโนเสาร์ได้


กระนั้น การค้นพบครั้งนี้ ช่วยส่งมอบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ในพื้นที่จีนตอนใต้ ซึ่งเติมเต็มช่องว่างทางนิเวศที่สำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ และขยายขอบเขตพื้นที่การกระจายพันธุ์ของไทแรนโนซอรอยด์ ที่มีการยืนยัน


เมื่อรวมกับบันทึกฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ที่พบในภูมิภาคดังกล่าวแล้ว การค้นพบฟอสซิลฟันยังบ่งชี้ว่าในอดีตนั้น เคยมีไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ในแถบจีนตอนใต้ ก่อนหน้าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA