เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 พ.ค. 67 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แถลงว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเนื้อหาต่อการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เบื้องต้นได้จัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ สำหรับหลักการของการแก้ไขเนื้อหามี 6 ประเด็น คือ 1.กำหนดให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป หรือเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ 2.เพิ่มช่องทางการออกเสียงสามารถทำผ่านบัตรอกเสียง หรือ ไปรษณีย์ เครื่องออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิธีอื่น โดยเขตออกเสียงสามารถใช้วิธีเดียวกันหรือหลายวิธีได้ 3.แก้ไขเกณฑ์ว่าด้วยการผ่านประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากดังกล่าว ต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่ออกเสียงประชามติ หรือ โหวตโน
นายนิกร กล่าวว่า 4.ให้ กกต. เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนประชามติอย่างทั่วถึงและให้มีการแสดงความเห็นอย่างอิสระเท่าเทียมทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขประเด็นที่เคยเป็นปัญหากรณีที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่มีช่องทางการแสดงความเห็น 5.ให้ กกต. กำหนดเขตออกเสียง ที่สามารถใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้านหรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงได้ 6.ให้ใช้หน่วยเลือกตั้งเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป หรือเลือกตั้งท้องถิ่นกรณีที่ครบวาระได้
“ผมเชื่อว่า ครม. จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายยประชามติ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้ทันการพิจารณาในวาระแรกวันที่ 18 มิ.ย. นี้ และการพิจารณาจะเป็นไปด้วยดี ก่อนจะตั้งกรรมาธิการพิจารณาให้เสร็จภายในกรอบเวลา 45 วัน โดยไม่มีปัญหาเพราะฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้คุยร่วมกันไม่มีขัดแย้ง จากนั้นในการพิจารณาวาระสองและวาระสาม จะทำได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ก่อนจะส่งให้ สว. พิจารณา โดยใช้เวลา 1 เดือน และคาดว่าจะเสร็จในเดือน ส.ค.” นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่า ไทม์ไลน์ของการออกเสียงประชามติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรบ้าง นายนิกร กล่าวว่า หลังจากที่แก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จและประกาศใช้ จะมีการกำหนดวันออกเสียงประชามติโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง ต่อการออกเสียงประชามติตามคำถามที่ ครม. เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ยังกำหนดไม่ได้เนื่องจากต้องรอการพิจารณาของสภา ให้เสร็จก่อน อย่างไรก็ดี หากจะเร่งกันทำให้เสร็จ การออกเสียงประชามติครั้งแรก อาจจะเกิดขึ้นในปลายปี 2567 เมื่อผ่านแล้วจะเข้าสู่กระบวนการแก้มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะทำได้เสร็จและนำไปออกเสียงประชามติ ครั้งที่สอง ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ในเดือน ก.พ. 68 อย่างไรก็ดี ตนเชื่อว่าในสมัยรัฐสภาปัจจุบันจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามว่า มีโอกาสจะทบทวนคำถามที่นำไปออกเสียงประชามติ หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ทำไม่ได้ เพราะ ครม. ออกเป็นมติแล้ว อีกทั้งตนมองว่าในประเด็นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หากจะแก้ไข ควรทำประชามติเป็นการเฉพาะเรื่อง อีกครั้ง โดยไม่ควรนำมารวมกับการรื้อใหญ่เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าการเว้นการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 จะเป็นปัญหาบ้าง แต่หากไม่เว้น เชื่อว่าจะมีปัญหามากกว่า.