“นี่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดไม่ถึงมาก่อน มันทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศของเรา” เบรตต์ ปูลิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว

ลำธารสีส้มในเทือกเขาบรูคส์ ทางตอนเหนือของอะแลสกา ภาพ: Josh Koch/USGS

การละลายของชั้นดินเยือกแข็งจะส่งผลให้แร่ธาตุสัมผัสกับออกซิเจน จากนั้นจึงเกิดเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ‘การผุกร่อน’ ซึ่งจะเพิ่มความเป็นกรดของน้ำและละลายโลหะ เช่น สังกะสี ทองแดง แคดเมียม และเหล็ก เหล่านี้ถือเป็นโลหะหลัก ๆ ที่เมื่อละลายแล้วจะทำให้ ‘แม่น้ำมีสีสนิมหรือสีส้ม’ โดยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้กระทั่งมองจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของน้ำดื่มและความเสี่ยงต่อการประมงในแถบอาร์กติก


“เมื่อน้ำเหล่านี้ไหลไปผสมกับแม่น้ำสายอื่น มันจะทำให้โลหะที่อยู่ในน้ำเพิ่มศักยภาพสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อไปยังคุณภาพของน้ำ” ปูลิน กล่าวต่อ

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 2018 ขณะที่นักวิจัยสังเกตเห็นแม่น้ำในเทือกเขาบรูคส์ ทางตอนเหนือของรัฐอะแลสกา มีสีส้มขุ่น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับน้ำทะเลที่ใสสะอาดดุจคริสตัล ที่เห็นในปีก่อนหน้า ซึ่งในปีเดียวกันนั้น ทำให้แม่น้ำอาคิลลิก ในอุทยานแห่งชาติคอบบ์ วัลเลย์ ได้สูญเสียปลาพื้นเมืองไป 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลาดอลลี่วาร์เดน และปลาสกัลปินสไลม์


“จากข้อมูลการศึกษาของเรา แสดงให้เห็นว่า เมื่อแม่น้ำกลายเป็นสีส้ม จะเห็นว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่และไบโอฟิล์มใต้น้ำ ซึ่งถือเป็นสายใยอาหารในระบบนิเวศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของปลาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง” ปูลิน กล่าวถึงปรากฏการณ์ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ ‘แม่น้ำมีสีสนิมหรือสีส้ม’ ถือเป็นปรากฏการณ์ตามฤดูกาล ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดินละลายลึกที่สุด นักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส หวังที่จะทำการศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำ ในพื้นที่ที่มีชั้นดินเยือกแข็งต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงภูมิภาคอาร์กติก เช่น อลาสกา แคนาดา รัสเซีย และบางส่วนของสแกนดิเนเวีย ด้วยเช่นกัน


“พื้นที่แห่งนี้ เป็นเขตที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก อย่างน้อย 2-3 เท่า ดังนั้นเราจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า ผลกระทบในลักษณะเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต” สก็อตต์ โซลคอส นักวิทยาศาสตร์อาร์กติก จากศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศวูดเวลล์ กล่าว

ที่มา : The Guardian

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]