สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่า มติที่เขียนโดยเยอรมนี และรวันดา ซึ่งกำหนดให้วันที่ 11 ก.ค. ของทุกปี เป็นวันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซเรเบรนิซาสากล ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 84 เสียง คัดค้าน 19 เสียง และงดออกเสียง 68 เสียง
“การลงมติครั้งนี้พยายามส่งเสริมความปรองดอง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” นางแอนท์เจอ ลีนเดิร์ตซ์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าว
#UPDATE The resolution written by Germany and Rwanda — countries synonymous with genocide in the 20th century — received 84 votes in favor, 19 against with 68 abstentions and makes July 11 "International Day of Remembrance of the Srebrenica Genocide" https://t.co/p5D2vluOzM
— AFP News Agency (@AFP) May 23, 2024
ก่อนหน้าการลงมติ ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช ผู้นำเซอร์เบีย กล่าวเตือนยูเอ็นจีเอ ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการเปิดบาดแผลเก่า และจะสร้างความโกลาหลทางการเมืองโดยสมบูรณ์ แต่เขาไม่ปฏิเสธการสังหารหมู่ซเรเบรนิซา และเคารพต่อผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในบอสเนียทุกคน
ขณะเดียวกัน นายมิโลราด โดดิก ผู้นำชาวเซิร์บ-บอสเนีย ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเมือง พร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลของเขาจะไม่ยอมรับมติของยูเอ็น
นอกเหนือจากการสถาปนาวันรำลึก มติของยูเอ็นจีเอ ยังประณาม “การปฏิเสธใด ๆ” เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของยูเอ็น “รักษาข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับ”
อนึ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซเรเบรนิซา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2538 หลังกองกำลังเซิร์บ-บอสเนีย สังหารชายและวัยรุ่นชาวบอสนีแอก หรือชาวมุสลิมบอสเนีย ประมาณ 8,000 คน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นความโหดร้าย ครั้งเลวร้ายที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง.
เครดิตภาพ : AFP