สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่า ยูเอ็นโอดีซีรายงานว่า มีการยึดยาบ้ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี 2566 ด้วยสถิติมากถึง 190 ตัน ถือเป็นระดับสูงที่สุด ซึ่งยูเอ็นโอดีซีเคยได้บันทึกไว้ หลังจากจับกุมได้น้อยลง เมื่อปีก่อนหน้า

การค้ายาเสพติดส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายทศวรรษ โดยมีรัฐฉาน ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา เป็นแหล่งยาเสพติดชั้นนำในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่มาจากห้องทดลองผิดกฎหมาย ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์ ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย โดยทางผ่านหลักสำหรับยาเสพติดในพื้นที่ ได้แก่ ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ทางตอนเหนือของไทย ซึ่งบรรจบกับชายแดนลาวและเมียนมา

นอกจากนี้ ยูเอ็นโอดีซีรายงานว่า มีการยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากที่ขนส่งระหว่างทางไป หรือบนเส้นทางเดินเรือทะเลตลอดปี 2566 จนถึงช่วงต้นปีนี้ และเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการไทยยึดยาบ้าชนิดคริสตัลจำนวน 1 ตัน ถือเป็นการจับกุมยาเสพติดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแก๊งค้ายาเหล่านี้ ได้พยายามเพิ่มผลผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ “กลุ่มอาชญากรกำลังลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขนาดการผลิต ด้วยการใช้สารเคมีที่ไม่สามารถควบคุมได้” นายมาซูด การิมิปูร์ ตัวแทนยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าว โดยอธิบายว่า การผลิตที่มากขึ้น จะส่งผลให้มีการขนส่งมากขึ้นและราคาลดลง

อนึ่ง ราคาของยาบ้าและเคตามีนลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราเงินเฟ้อของโลกสูงขึ้น และเจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางมาแล้วเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้ ราคาขายส่งยาบ้าในพื้นที่การผลิตแตะระดับต่ำสุดที่ 400 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม (ราว 14,645 บาท) ทั้งนี้ ยูเอ็นโอดีซีทิ้งท้ายด้วยการเตือนว่า มีผลิตภัณฑ์ยาเสพติดสังเคราะห์ใหม่ ๆ วางขายมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นผู้เสพวัยเยาว์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ‘แฮปปี้วอเตอร์’ และ ‘ลูกอมปาร์ตี้’ ซึ่งผลิตจากสารที่คาดเดาไม่ได้ เช่น เคตามีน, เมทแอมเฟตามีน และแบนโซไดอะซีปีน.

เครดิตภาพ : AFP