ที่ศาลาประชาคมบ้านคำคา หมู่ 3 ตำบลโนนศิลา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก อ.สหัสขันธ์ จัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาคองก้าอำเภอสหัสขันธ์ โดยมีนางศิรดา มะลาสาย วัฒนธรรมอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยนางณัฐวดี รอดภัย หน.ฝ่ายบริหารทั่วไป นางเพ็ญพรรณ จันทร์ปุ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ นางณัฐวดี รอดภัย หน.ฝ่ายบริหารทั่วไป ร่วมกิจกรรมอบรมฯ โดยมีนางพิไลลักษณ์ เขียวประเสิร์ฐ อาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์พื้นบ้าน รร.ดงน้อยวิทยา ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นวิทยากร โดยการจัดอบรมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ผ่านวิสาหกิจเพื่อสังคมอำเภอสหัสขันธ์ ขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ อ.สหัสขันธ์

นายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา กล่าวว่า ทางชุมชนบ้านคำคา ได้สืบทอดรำวงคองก้ามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ใช้รำวงคองก้าเป็นกิจกรรมผ่อนคลาย หลังจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำนา หาปลา จะรวมตัวกันในช่วงหัวค่ำพูดคุยกัน คองก้าเป็นกิจกรรมสังสรรค์ของชุมชนที่มาจากภูมิปัญญา โดยเฉพาะบทร้องเพลงจะประพันธ์ขึ้นเอง เล่าเรื่องราวของชุมชน เล่าเหตุการณ์แห่งความทรงจำต่างๆ ผ่านบทเพลง โดยท่ารำ ท่าเต้น จะสืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย รวมถึงจังหวะดนตรีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน

“รำวงคองก้า ได้รับเชิญไปแสดงในเวทีต่าง ๆ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ จากการสนับสนุนของทางราชการ ทางชุมชนได้ร่วมกับโรงเรียนคำคาราษฎร์บำรุง บรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่น มีปราชญ์ของชุมชนเป็นผู้สอน โดยก่อนหน้านี้วงคองก้ามีแต่ผู้สูงอายุ และกำลังจะหายไปจากชุมชน แต่เมื่อเราได้ร่วมกับภาคีสหัสขันธ์ ที่มีชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ได้ขับเคลื่อนงานและกิจกรรมของ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ทำให้มีเยาวชนสนใจมากขึ้น เป็นแนวทางที่จะสืบสาน ต่อยอด และพัฒนาคองก้าบ้านคำคาต่อไป” นายราชัน กล่าว

ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ อาจารย์ภาควิชาการแสดงพื้นบ้านอีสาน วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ กล่าวว่า คองก้าบ้านคำคา มีความน่าสนใจจากเสน่ห์ของท่ารำ ท่าเต้นที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะท่าสะบัดไหล่ ที่หาชมได้ยากมาก สามารถถ่ายทอดไปยังเยาวชนได้อย่างสวยงาม มีรูปแบบสนุกสนานแฝงด้วยความรู้เรื่องราวจากชุมชนผ่านเนื้อร้อง มีทำนองที่ฟังสบาย จากเครื่องดนตรีพื้นบ้านผสมผสานกับเครื่องดนตรีร่วมสมัยไม่กี่ชิ้น ซึ่งเห็นได้ว่ารำวงคองก้ามาจากภูมิปัญญาผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังหลงเหลือไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

“สำหรับรูปแบบ ชาวบ้านคำคายังเต้นคองก้าแบบโบราณ ผสมผสานกับรำวงมาตรฐาน ต่อด้วยลำลาว มีจังหวะลุมบ้า แซมบ้า และคองก้า ผสมผสานในการแสดง ที่มีแบบแผนชัดเจนและแสดงออกมาได้อย่างสวยงาม คองก้าบ้านคำคา มีเสน่ห์อีกด้านคือคำร้อง ซึ่งคนในชุมชนแต่งเองร้องเอง เป็นการร้องเพลงที่มาจากหัวใจถ่ายทอดเรื่องราวในชุมชนเป็นอย่างดี ทางชุมชนพร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปการแสดงใครที่อยากมาเรียนเต้นคองก้า แนะนำเลยว่าเป็นการแสดงที่มีเสน่ห์ และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย” ดร.พรสวรรค์ กล่าว