สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่าศาลประชาชนระดับกลางแห่งเทศบาลนครเทียนจิน มีคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้ประหารชีวิตนายไป่ เทียนฮุ่ย อดีตผู้บริหารของหัวหรง ฐานรับสินบนมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านหยวน (ราว 5,678 ล้านบาท) ด้วยการใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เสนอการเข้าซื้อโครงการ และการจัดหาเงินทุนให้องค์กร

หัวหรงเป็นเป้าหมายหลักของการปราบปรามการรับสินบน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่สั่งสมมานานหลายปี โดยก่อนหน้านี้ นายล่าย เสี่ยวหมิน อดีตประธานบริษัท ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ฐานรับสินบนมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,527 ล้านบาท)

ผู้สนับสนุนนโยบายปราบปรามครั้งนี้เชื่อว่า การรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะส่งเสริมธรรมาภิบาลที่สะอาด ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์มองว่า นโยบายนี้ช่วยให้ประธานาธิบดีสีมีอำนาจมากขึ้น ในการกวาดล้างคู่แข่งทางการเมือง

ศาลพิพากษาให้นายไป่ “ถูกประหารชีวิต, ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และยึดทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งหมด” โดยระบุว่า “มูลค่าของอาชญากรรมติดสินบนซึ่งนายไป่ก่อขึ้นนั้น สูงและร้ายแรงมาก และสร้างความเสียหายอย่างหนัก ต่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน”

ผู้นำระดับสูงของจีนกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร เกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินว่า “ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนจะต้องถูกลงโทษ และเป็นการลงโทษอย่างรุนแรง” ส่งผลให้เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ภาคการเงินและการธนาคารของจีน ตกเป็นเป้าหมายการตรวจสอบ จากหน่วยงานต่อต้านการรับสินบน

เมื่อเดือน เม.ย. 2567 นายหลิว เหลียนเก๋อ อดีตประธานแบงก์ ออฟ ไชนา ระหว่างปี 2562-2566 ยอมรับว่าเคย “รับสินบนและให้สินเชื่ออย่างผิดกฎหมาย” และในเดือนเดียวกัน อดีตผู้บริหารธุรกิจธนาคาร เอเวอร์ไบรท์ กรุ๊ป ถูกสอบสวนในข้อหา “ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง”

แม้จีนเก็บสถิติการประหารชีวิตไว้เป็นความลับของรัฐ แต่แอมเนสตี้และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เชื่อว่า มีผู้ถูกประหารชีวิตในจีนปีละหลายพันราย.

เครดิตภาพ : AFP