โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอำเภอละอย่างน้อย 1 โรงเรียน
ซึ่งหากมองย้อนกลับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 สพฐ.ได้การดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนา “โรงเรียน” ให้เป็น “โรงเรียนคุณภาพ” มาอย่างต่อเนื่อง โดยระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2563 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือ 1 โรงเรียน 1 ตำบล” มุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 8,224 โรงเรียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 พัฒนาต่อยอดเป็น “โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone” เน้นยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวม 349 โรงเรียน ระยะที่ 3 พ.ศ. 2565-2566 ใช้ชื่อ “โรงเรียนคุณภาพ” พัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพและมีความปลอดภัย และมาถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2567 ยุค “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” นั่งเก้าอี้เสมา 1 ได้สั่งการให้ สพฐ.ยกระดับเป็นโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยมีโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 1,808 โรงเรียน ทุกอำเภอและเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เห็นถึงความสำคัญของโรงเรียนคุณภาพ ในการสร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ลดภาระนักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนโรงเรียนในเมืองที่มีชื่อเสียง ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง นักเรียนเรียนดีมีความสุข โดยนำโรงเรียนคุณภาพไปอยู่ใกล้บ้านในทุกอำเภอ และให้เป็นต้นแบบทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนแม่ข่าย สนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย เปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรในโรงเรียนแม่ข่ายได้อย่างทั่วถึง สามารถดึงดูดนักเรียน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองให้เลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน

“โรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่า 14,777 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กในแต่ละปีก็ลดลง ส่งผลให้แนวโน้มจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น และกระทบต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ สพฐ.จึงปรับจุดเน้นโครงการโรงเรียนคุณภาพ โดยดำเนินการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามบริบทของตนเองในทุกอำเภอ ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้ สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม คือ มีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอเอื้อต่อการพัฒนาต่อยอด สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักเรียนในอนาคตได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,808 โรงเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 901 โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 907 โรงเรียน โดยโรงเรียนกลุ่มนี้จะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร สื่อการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีครูครบชั้น ครบวิชา สามารถจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นโรงเรียนต้นแบบที่นำไปสู่ภาพความสำเร็จตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ”

เลขาธิการ กพฐ. บอกด้วยว่า สพฐ.คาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ใน 4 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน ในภาพรวมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เพิ่มสูงขึ้น มีความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ไขปัญหา การใช้ทักษะชีวิต การใช้เทคโนโลยี มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านครูและผู้บริหาร ครูได้รับการพัฒนาให้สามารถจัดการเรียนการสอนรูปแบบ ACTIVE LEARNING ได้รับการอบรม และพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารได้รับการอบรมและพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการโรงเรียน หรืออบรมภาวะผู้นำ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียนมีความพร้อม ทั้งอาคาร สถานที่ ห้องเรียน ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อเทคโนโลยีต่างๆ และ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เปิดโอกาสให้ชุมชนและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ แบ่งปันนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อนคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนได้รับความนิยม เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูว่า โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่