ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวรีย์ ยอดฉิม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ในฐานะหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้า จ.สมุทรสงคราม มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงพิมพร ทองเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา จ.สมุทรสงคราม,รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,อาจารย์ ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ,คณาจารย์และคณะเจ้าหน้าที่โครงการ U2T วิทยาลัยสหเวชศาสตร์,นายเอกชน น้อยเงิน หัวหน้าสำนักงานฯและสถาบันวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเล (หอยแมลงภู่) ต.แหลมใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม นำทีมลงพื้นที่โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คณะผู้บริหาร นักวิจัยสังกัด อว. และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพตามมาตรฐาน


รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงพิมพร ทองเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา จ.สมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะหน่วยปฏิบัติการ อว.ส่วนหน้า จ.สมุทรสงครามมีความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการ เช่น 1.ความพร้อมด้านศาสตร์และบุคลากร ได้แก่ องค์ความรู้แขนงสหเวชศาสตร์ และแขนงพยาบาลศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม นอกจากนี้ องค์ความรู้แขนงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิชาอื่นๆที่เปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย อีกทั้งคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และ เจ้าหน้าที่ U2T สมุทรสงคราม พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนการและบูรณาการเครือข่ายร่วมกับส่วนงานอื่นๆในการดำเนินการดังกล่าว 2. มีหน่วยงานสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งมีศักยภาพในการสนับสนุนด้านการวางแผนโครงการด้านการวิจัยและพัฒนา และการดำเนินการขอรับการสนับสนุนจากแหล่งงบประมาณ เช่น สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ในปีงบประมาณต่อไปเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และ 3.ความเชี่ยวชาญของคณะนักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเครื่องจักร หรือเครื่องมือ ในการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์ เช่น การผลิตเครื่องจักรในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผักตบชวา ซึ่งมองว่า การพัฒนาเครื่องจักรในการแกะเปลือกหอยแมลงภู่ หรือการพัฒนาเครื่องมือในการแกะหอยแมลงภู่ จะประสบความสำเร็จได้


อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ พบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากหอยแมลงภู่ให้ได้รับมาตรฐาน คุณภาพดี รสชาติไม่เปลี่ยนหลังจากใส่บรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อรายได้ ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป