เส้นทางท่องเที่ยว 10 มัสยิดในกรุงเทพฯ ที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงามและเรื่องราวความผูกพันกับชุมชนโดยรอบ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน Global Muslim Tourism Index (GMTI) เทียบเท่าระดับโลก
เริ่มที่ “มัสยิดต้นสน” ศาสนสถานของชาวมุสลิมนิกายซุนนีที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างราวปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แรกเริ่มเป็นเรือนไม้ยกพื้น ฝาขัดแตะหลังคามุงจาก โดยตัวอาคารมัสยิดปัจจุบันเป็นแบบก่ออิฐถือปูนมีโดมทรงอียิปต์ สมัยฮิจเราะห์ศักราช 800 ภายในมี “มิมบัร” แท่นแสดงธรรม ศิลปะผสมแบบชวาหลังคารูปครึ่งวงกลม ที่หน้าจั่ว แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง “มิหรอบ” ซุ้มอุทิศศิลปะแบบอยุธยาตอนปลายจําหลัก หน้าบันลายกระจังก้านขด ยกช่อฟ้า ใบระกา และลงรักปิดทองประดับกระจก และเครื่องประดับ “ชุมทิศ” แผ่นกระดานไม้สักจําหลักลวดลายภาษาอาหรับ วิหารกะอ์บะฮ์ และผังมัสยิดในนครเมกกะ สันนิษฐานว่าเป็นของมัสยิดเก่าในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2
แทรกตัวเข้าไปตามช่องว่างขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างโกดัง คลายกลอนประตูที่ปิดไว้หลวม ๆ เปิดเข้าไปสู่โลกของมุสลิม “ดาวูดีโบห์รา” กลุ่มพ่อค้าชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย นิกายชีอะห์ที่มาค้าขายและตั้งรกรากตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นําโดย ตระกูลอับดุลราฮิมผู้นําเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย และตระกูลโมกุลนําเข้าเครื่องเงินคุณภาพดีสําหรับเจ้านายชั้นสูง สองตระกูลใหญ่ที่ทําการค้ากับราชสํานักของไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ร่วมกันก่อร่าง “มัสยิดเซฟี” แห่งนี้ ตัวอาคารสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิค ถอดแบบมาจากมัสยิดในอินเดียลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมครึ่งตึกครึ่งไม้ พื้นหินอ่อนด้านหน้าเป็นหินอ่อนเก่าที่มาจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อครั้งปรับปรุงใหญ่ ด้านในมี 2 ชั้น ด้านบนเป็นไม้ตกแต่งด้วยกระจกสี ไม่มี “มิมบัร” และ “หออะซาน” (หอกระจายเสียง) เหมือนอย่างมัสยิดอื่น ๆ
“มัสยิดบางอ้อ” จากมัสยิดแพที่ลอยอยู่ริมตลิ่งแม่นํ้าเจ้าพระยา มาสู่อาคารก่ออิฐถือปูนหลังใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน โดยโครงสร้างหลักเป็นศิลปะเรอเนซองส์ เน้นความสมมาตรและความเป็นสัดส่วนของรูปทรงเรขาคณิต หน้าบันหรือจั่วมีความหรูหราแบบศิลปะบาโรก หลังคาเป็นทรงปั้นหยา โดมสีเขียวบนหลังคาหออะซาน ได้รับอิทธิพลรูปดอกบัวใหญ่ตามแบบฮินดูและรูปหม้อนํ้าของชาวอาหรับ องค์ประกอบสําคัญของศิลปะโมกุล ประดับลายปูนปั้นโดยรอบ ด้านข้างคืออาคารเจริญวิทยาคาร เรือนไม้ขนมปังขิงแบบตะวันตก ฉลุลายไม้และประดับกระจกสีอย่างสวยงาม จั่วด้านบนมีอักษรภาษาอาหรับ “ทูรา” พระปรมาภิไธยของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ด้านใน คือ อาคาร 100 ปีมัสยิดบางอ้อ ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิตอิสลาม กระเบื้องเคลือบลวดลายศิลปะอิสลาม แม้สร้างขึ้นใหม่แต่ดูกลมกลืนผสานความเก่าและใหม่ด้วยกันอย่างลงตัว
ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “กองอาสาจาม” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ได้อาสาเข้าร่วมกับกองทัพไทยในการสู้ศึกพม่าครั้งสงครามเก้าทัพจนได้รับชัยชนะ และได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณสุดคลองนางหงษ์ (คลองมหานาค) คือ “ชุมชนบ้านครัว” ในครั้งนั้น พระยาราชบังสัน (แม้น) ผู้นํากองอาสาจาม ได้สร้างมัสยิดขึ้นที่บ้านครัว เป็นมัสยิดแห่งแรกของกรุงเทพฯในฝั่งพระนคร “มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์” ผู้คนทั่วไปเรียกว่า “มัสยิดบ้านครัว” เดิมเป็นอาคารทรงปั้นหยาแบบศาสนสถานโบราณ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเหมือนในปัจจุบัน โดยยังคงเก็บรักษาโดมแปดเหลี่ยมที่ส่วนหน้าของหลังคา รวมทั้งพื้นปูกระเบื้อง เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็น และเข้าใจความเป็นมาของกองอาสาจาม
ราวช่วงต้นรัตนโกสินทร์ชาวมุสลิมทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยเลยไปจนสุดแหลมมลายู อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ ทุ่งพญาไท และเริ่มก่อสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากอาคารเรือนปั้นหยาที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สําหรับการศึกษาเรียนรู้และประกอบศาสนกิจในยุคแรก มาสู่ “มัสยิดดารุ้ลอะมาน” ชื่อที่หมายถึง สถานที่แห่งความปลอดภัย อาคารแบบก่ออิฐถือปูนผลงานของนายช่างฝีมือดีจากชุมชนที่อยู่โดยรอบ ที่ยังคงนําประตูไม้เก่า รวมถึงกระจกสีตกแต่งเหนือซุ้มประตูหน้าต่างของอาคารหลังเดิมมาใช้งาน รวมถึงหออะซานบนชั้นดาดฟ้าที่เคยใช้เป็นหอกระจายเสียงซึ่่งได้รับการปรับปรุงใหม่ในสไตล์อาหรับเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์ค
ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2371 “มัสยิดฮารูณ” ถูกสร้างขึ้นในชุมชนมุสลิมเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า “ชุมชนต้นสําโรง” บริเวณริมแม่นํ้าเจ้าพระยา จากมัสยิดสร้างด้วยไม้ในยุคแรกของชาวมุสลิมเชื้อสายอินโดนีเซีย-อาหรับ เปลี่ยนมาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังจากย้ายเข้ามา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลไทยได้ขอเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม (กรมศุลกากร) ขนาบข้างด้วย “วัดม่วงแค” และ “อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก” ศาสนสถานของ 3 ศาสนาและชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ด้านในมี “มิมบัร” แท่นแสดงธรรม และ “มิหรอบ” ชุมทิศเก่าแก่ที่อยู่คู่มัสยิดอายุกว่า 125 ปีแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีฉลุลายอักษรอาหรับทั้งที่อยู่โดยรอบด้านใน และตามซุ้มประตูหน้าต่าง เป็นคําสอนจากคัมภีร์
อัลกุรอาน และพระนามของพระอัลเลาะห์
“มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “สุเหร่าตรอกจันทน์” เป็นเวลากว่า 112 ปี ที่อาคารมัสยิดแห่งนี้ยืนตระหง่านอยู่ไม่ไกลจากริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา โดยผ่านพ้นสงครามโลกครั้งแรกและครั้งที่ 2 รวมทั้งเหตุไฟไหม้ใหญ่ของชุมชนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ มาได้อย่างอัศจรรย์ อาคารทรงสี่เหลี่ยมที่ไร้เสากลางโถงด้านใน ว่ากันว่าฐานด้านล่างนั้นอัดแน่นไปด้วยโอ่ง ตุ่ม ที่พยุงตัวอาคารทั้งหลังไว้ได้อย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้ กระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ ที่ติดผนังทั้งด้านในและด้านนอกเป็นการบูรณะใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. 2528 ลายปูนปั้นเหนือซุ้มประตูเป็นภาษาอาหรับเขียนว่า “มูฮัมหมัด” พระนามของศาสดาองค์สุดท้าย ส่วนประตู-หน้าต่างเป็นไม้ที่ซ่อนประตูขนาดเล็กไว้ในบานขนาดใหญ่ ด้านบนทั้ง 4 มุมเป็นหออะซานเป็นทั้งหอกระจายเสียงและหอสังเกตการณ์ในสมัยก่อน
เพราะตราสัญลักษณ์จักรวรรดิออตโตมันอันเกรียงไกรเหนือประตูทางเข้า “มัสยิดบางอุทิศ” หรือ “สุเหร่าแม่บาง” ชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานครั้งแรกสร้าง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับประเทศตุรกี จนนํามาสู่ความร่วมมือในการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุด อาคารที่มีไม้ซุงเป็นฐานแล้วจึงก่ออิฐและเทปูนทับด้านบนโดยไม่มีเสาคํ้าด้านใน วันนี้จึงมีหอคอยสูงเคียงข้างศาลาบนดาดฟ้าที่ได้รับการปรับปรุงใหม่แทนศาลาไม้หลังเดิม อาคารชั้นลอยสําหรับสุภาพสตรีใช้ละหมาด มิหรอบและมิมบัรหินอ่อน และแท่นสูงสําหรับอิหม่ามขึ้นไปสอนหนังสือแบบมุสลิมยุโรปตะวันออก รวมทั้ง “Arabesques” ลวดลายรูปเรขาคณิต พรรณไม้ และสัตว์ วาดด้วยมือบนผนังและเพดาน
โดมครึ่งวงกลมบนยอดมีพระจันทร์เสี้ยวประดับอยู่เคียงคู่อยู่กับโดมทรงเหลี่ยมที่อยู่สูงถัดขึ้นไป โดยอาคารก่ออิฐถือปูนในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่หลังจากถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2525 ทาสีขาวสะอาดตาและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม โดยบนยอดหอคอยของมัสยิดสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครได้แบบ 360 องศา ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางชุมชน “ตึกดิน” ที่โอบล้อมอยู่ ที่นี่คือ “มัสยิดบ้านตึกดิน” ศาสนสถานของชุมชนชาวมุสลิมเก่าแก่ ติดกับถนนดินสอ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และตั้งชื่อตามอดีตแหล่งผลิตดินสอ และกระดาษสมัยกรุงศรีอยุธยา จากสถานที่สอนศาสนาและสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในวันวาน ขยับขยายขึ้นเป็นมัสยิดโดยเป็นเครือข่ายของมัสยิดจักรพงษ์ เป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนแขกย่านบางลําพู โดยเป็นมุสลิมเชื้้อสายจากปัตตานี
สุดท้าย “มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์” ศูนย์รวมจิตใจมุสลิมคลองสามวา จากรัฐปัตตานีทางใต้ของไทย แขกตําพรื้อกลุ่มแรกอพยพขึ้นมาจับจองพื้นที่ป่ารกร้างย่านมีนบุรี เปลี่ยนเป็นทุ่งนา พร้อมปลูกสร้างบ้านเรือน ณ ริมคลองสามวา ที่เชื่อมต่อระหว่างคลองหกวากับเมืองธัญบุรีและคลองแสนแสบ แบ่งออกเป็นบ้านสามวาตะวันตก และบ้านสามวาตะวันออก สุเหร่าหลังแรกจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารไม้สักทรงไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาใต้ถุนสูง ต่อมาเมื่อชุมชนขยายมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาสู่อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นครึ่งหลังใหญ่อย่างในปัจจุบัน
มัสยิดทั้ง 10 แห่งไม่เพียงมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม หากแต่ยังมีความผูกพันและเรื่องราวของชุมชนโดยรอบให้ได้สัมผัสเรียนรู้ไปพร้อมกัน.
อธิชา ชื่นใจ