ในเรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มอบนโยบายให้สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ถอดบทเรียนน้ำท่วม ปี 65 พบพื้นที่ กทม. มีปัญหาน้ำท่วม 737 จุด แบ่งเป็น น้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด และน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด
การแก้ปัญหาจนถึงปัจจุบันแบ่งได้ 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาของสำนักระบายน้ำ 144 จุด แก้ไขเสร็จ 109 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 32 จุด และใช้มาตรการเร่งด่วน 3 จุด อีกส่วนเป็นการแก้ปัญหาของสำนักงานเขต 473 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 88 จุด แล้วเสร็จบางส่วน 18 จุด เป็นพื้นที่เอกชนหรือหน่วยงานราชการ 82 จุด ใช้มาตรการแก้ระยะเร่งด่วน 30 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 255 จุด

ล่าสุด นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขน้ำขังในถนนใหญ่ ซึ่งเป็นถนนสายหนักและมักเกิดน้ำขังตลอดเวลาเมื่อฝนตก ซึ่งมี 7 จุด ได้แก่ 1.บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 เขตราชเทวี 2.ถนนพระรามที่ 9 บริเวณแยก อสมท เขตห้วยขวาง 3.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา เขตจตุจักร 4. ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เขตบางเขน
5.ทำนบกั้นน้ำคลองลำผักชี ข้างตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน 6.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) เขตหลักสี่ 7.โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) เขตหลักสี่) 8.ถนนแจ้งวัฒนะ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณบึงสีกัน เขตหลักสี่ ซึ่งแต่ละจุดมีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ปีนี้ถนนสายหลักซึ่งเป็นจุดเสี่ยงสำคัญจะมีการระบายที่ดีขึ้นแน่นอน เพราะ กทม. เข้าไปปรับปรุงแก้ไขร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายโครงการเสร็จแล้ว ปีนี้จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขังอีกในพื้นที่ถนนสายหลัก
อาทิ บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 เขตราชเทวี อยู่ในโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยาและถนนพระรามที่ 6 เป็นบ่อสูบน้ำที่มีขนาดกำลังสูบ 4.00 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยเร่งระบายถนนพระรามที่ 6 และถนนศรีอยุธยา ช่วงจากแยกศรีอยุธยาถึงแยกพญาไท ลงคูน้ำกองพันทหารสารวัตรที่ 11 และระบายเข้าบ่อสูบน้ำ รพ.พระมงกุฎ ขนาดกำลังสูบ 6.00 ลบ.ม.ต่อวินาที ลงสู่คลองสามเสน
ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ผลงาน 90% คาดแล้วเสร็จปลายเดือน ก.ค. นี้ โดยการแก้ปัญหาบริเวณนี้ ถือเป็นการประสานงานความร่วมมือ

ต่อมาคือ ถนนพระรามที่ 9 แยก อสมท ในซอยพระราม 9 ซอย 7 (ซอยทวีมิตร) ซึ่งเป็นซอยเอกชน มีระดับต่ำกว่าถนน เมื่อฝนตกหนักจึงมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอระบาย กระทบกับการสัญจรในพื้นที่มาก และเนื่องจากเอกชนไม่ได้ยกให้เป็นพื้นที่สาธารณะ จึงมีปัญหาที่ กทม. ไม่สามารถนำงบประมาณลงไปแก้ไขได้
“การแก้ปัญตรงจุดนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกับเอกชนและนิติบุคคลของหมู่บ้าน ด้วยการที่เจ้าของพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากซอย เพื่อสูบระบายน้ำจากด้านในชุมชนหมู่บ้านทวีมิตร ออกตรงผิวถนนให้มาเชื่อมโยงเข้ากับระบบระบายน้ำ เดิมของ กทม. ที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้ระบน้ำบนผิวถนนพระรามที่ 9”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากของเดิมเป็นบ่อสูบน้ำชั่วคราว ขนาดกำลังสูบ 0.80 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งไม่เพียงพอ หากต้องรับน้ำสองทาง สำนักการระบายน้ำจึงปรับปรุงบ่อสูบดังกล่าว เป็นบ่อสูบน้ำถาวร ขนาดกำลังสูบ 2.50 ลบ.ม.ต่อวินาที
“การแก้ปัญหาบริเวณนี้ ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกันระหว่าง กทม.กับภาคเอกชน ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ”
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึง อีกจุดเสี่ยงน้ำท่วมสำคัญและประสบปัญหาหนักเมื่อปีที่ผ่านมาคือ บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษก ด้วยกายภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อฝนตกหนักน้ำจึงท่วมขังประจำ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทำได้ล่าช้า เนื่องจากขาดท่อลำเลียงจากถนนรัชดาภิเษกลงสู่คลองด่วน เพื่อส่งต่อไปยังสถานีสูบน้ำรัชวิภา และ Water Bank รัชวิภาทางด้านทิศเหนือ และระบายออกคลองน้ำแก้วทางด้านทิศใต้

เบื้องต้น แก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก 2 แห่ง เพื่อเชื่อมระหว่างท่อระบายน้ำทั้ง2ฝั่งถนน ระบายลงสู่คลองด่วน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น คาดเสร็จในเดือน ส.ค. นี้
“การแก้ไขปัญหาบริเวณหน้าศาลอาญา จำเป็นต้องดำเนินการหลายภารกิจคู่กัน เช่น การปรับปรุงบ่อสูบน้ำ การขุดลอกเปิดทางน้ำไหล และคงยังจำเป็นต้องเพิ่มเติมวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ Pipe Jacking ด้วย ถึงจะรองรับประมาณฝนตกหนักเกินกว่า 60 มม.ได้”
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 67 สำนักการระบายน้ำได้รับงบโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ถึงหน้าศาลอาญารัชดา และโครงการก่อสร้างบ่อสูบน้ำซอยรัชดาภิเษก 32 (อาภาภิรมย์) ตอนลงคลองลาดพร้าว ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ เช่น ซอยเสือใหญ่

สำหรับบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เดิมระบบระบายน้ำ และ Water bank ที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำและระบาย ได้ทำ MOU ร่วมกับ กรมทางหลวง ขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทางหลวง เพื่อก่อสร้างเป็นแก้มลิง มีขนาดกักเก็บน้ำ 6,000 ลบ.ม. ใช้กักและพักน้ำไว้ชั่วคราวขณะฝนตกหนัก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา จากนั้นจะระบายน้ำลงรางอ้อรางแก้วลงสู่คลองบางเขน.