จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมายอมรับว่า ครอบครัวชินวัตรเป็นห่วงความปลอดภัยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดา หลังจากมีการลอบยิงนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “เพราะก่อนหน้านี้คุณพ่อก็เคยถูกลอบยิงหลายครั้ง เพราะฉะนั้นเราระวังเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่คุณพ่อพูดอยู่เสมอว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยคงไม่ได้มีความโหดร้ายถึงเพียงนั้น แต่เราก็ต้องดูแลกันไปตามมาตรการ”
จากการรวบรวมเหตุการณ์ในอดีต พบว่ามีเหตุการณ์ที่นายทักษิณระบุว่าถูกลอบสังหาร 2 ครั้ง ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2544 เกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินไทย โบอิ้ง 737-400 ระเบิด ก่อนที่นายทักษิณ (ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544) พร้อมด้วยนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ และคณะ จะเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปยัง จ.เชียงใหม่ โดยเป็นเหตุให้ไฟไหม้เครื่องบินเสียหายทั้งลำ และมีพนักงานประจำเครื่องบินเสียชีวิต 1 ราย
ต่อมา คณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางเข้ามาร่วมสอบสวน แถลงว่า ได้นำชิ้นส่วนไปทดสอบที่ห้องทดลองของเอฟบีไอแล้ว ไม่พบร่องรอยของวัตถุระเบิด และคาดว่ากรณีนี้คล้ายกับการระเบิดของเครื่องโบอิง 737 ของสายการบินฟิลิปปินส์ เที่ยวบินที่ 143 เมื่อเดือน พ.ค. 2543 ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของถังน้ำมันเชื้อเพลิง
สำหรับเหตุการณ์การลอบสังหารครั้งที่ 2 เกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” ในวันที่ 24 ส.ค. 2549 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ทหารสังกัด กอ.รมน. ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวู ภายในรถบรรทุกระเบิดไปจอดรออยู่บริเวณสี่แยกบางพลัด ใกล้บ้านพัก ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ในกระโปรงท้าย รัศมีทำลายล้างไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร อันเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถของนายทักษิณ แต่ทีม รปภ.ตรวจพบเสียก่อน ซึ่งหน่วยงานฝ่ายรัฐบาล ระบุว่า เป็นการมุ่งสังหารนายทักษิณ
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณยังเคยเล่าว่า มีความพยายามลอบสังหารอีกหลายครั้ง เช่น พยายามลอบยิงด้วยสไนเปอร์ที่ จ.ลำปาง และขณะที่กำลังปราศรัย ณ ท้องสนามหลวง แต่การลอบสังหารดังกล่าวไม่สำเร็จ.