คืนที่ผ่านมา คงเป็นค่ำคืนที่เต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์ของ ‘คนรักฟุตบอล’ ที่ทั้งตื่นเต้น หวาดเสียว สนุก มีความสุข และผิดหวัง จากศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่าง สเปน พบ อังกฤษ ณ โอลิมเปียชตาดิโยน สนามกีฬาในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ท้ายที่สุดแล้วบทสรุปของนัดชี้ชะตาดังกล่าว กระทิงดุก็กำราบสิงโตคำรามไว้ด้วยสกอร์ 2-1 ภายในเวลา 90 นาที ได้สำเร็จ ทำให้กระทิงดุอย่างสเปนคว้าแชมป์ ‘ยูโร’ หรือ ‘ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป’ (European Football Championship) เป็นสมัยที่ 4 ได้อย่างสวยงาม
ทว่านอกเหนือจากความสนุกสะใจในเกมการแข่งขันแล้ว ‘ฟุตบอลยูโร’ หนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ก็กำลังถูกจับตามองว่าจะมีบทบาทอย่างไรในเรื่องของ ‘Climate change’ หรือ ‘วิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ ด้วยสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าจะหันไปซ้ายหรือขวาก็หนีไม่พ้นเรื่องดังกล่าว ประกอบกับการที่ฟุตบอลเหมือนกับกีฬาประเภทอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่บวกและลบ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการและดำเนินการ
ในอดีต ฟุตบอลอาจถูกมองว่าเป็นเพียงกีฬาเพื่อความบันเทิงและธุรกิจเท่านั้น ทว่าปัจจุบัน บทบาทของฟุตบอลได้ขยายขึ้นอย่างกว้างขวาง การออกแรงหวดเท้ายิงลูกหนังเข้าประตูตาข่าย กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงวิกฤตสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ชมทั่วโลกได้เป็นอย่างดี กระแสความตื่นตัวด้านการรักษ์โลก ผลักให้หน่วยงานที่กำกับดูแลฟุตบอลระดับสากล และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่าง ยูโร 2024 ที่เพิ่งจบไป ‘สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป’ หรือ ‘ยูฟ่า’ (UEFA) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การเกมแข่งขัน มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และชัยชนะในสนามเท่านั้น ทว่ายังเป็นการนำเสนอทัวร์นาเมนต์ที่ถูกครอบไว้ด้วยมาตรฐานความยั่งยืนสูงสุดอีกด้วย โดยการจัดการแข่งขัน UEFA EURO 2024 ในเยอรมนีนั้น วิสัยทัศน์ของยูฟ่าคือการแสดงออกในแง่การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการจัดการแข่งขันในวงการกีฬา พร้อมสร้างแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในระบบนิเวศและสังคมของฟุตบอลเยอรมันและยุโรป
‘ความยั่งยืน’ ถือเป็นหลักใหญ่ใจความในการดำเนินงานของยูฟ่า นับตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการดำเนินการในแต่ละส่วน ที่ผสานกับแนวปฏิบัติชั้นดีของสมาคมฟุตบอลเยอรมัน (DFB) และยูฟ่าเอง ทั้งยังกระตุ้นการลงทุนและมาตรการต่างๆ ตามกลยุทธ์ ESG ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม: ในทัวร์นาเมนต์ ยูโร 2024 ครั้งนี้และครั้งถัดไป ยูฟ่ามีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านตารางการแข่งขันที่ปรับเปลี่ยนโซลูชันการคมนาคมอัจฉริยะ (รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการใช้ขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟ), การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านการจัดตั้งกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการโดยสโมสรฟุตบอลสมัครเล่นในเยอรมนี
นอกจากนี้ สนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกในฟุตบอลยูโร ยังได้รับการยกระดับโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับการนำใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) บนพื้นฐานของหลัก 4Rs ได้แก่ การลด (Reduce), การใช้ซ้ำ (Reuse), การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ การฟื้นฟู (Recovery) มาใช้ในกระบวนการจัดการแข่งขัน
ด้านสังคม: เพื่อให้สอดคล้องกับคำปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของยูฟ่า การจัดการแข่งขันยูโรในครั้งนี้ จึงได้ดำเนินงานตามมาตรการที่ครอบคลุม โดยมีเป้าหมายเพื่อรับรองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าเข้าแข่งขันและผู้ชมทุกคน ซึ่งรวมถึงการร้องเรียนและตอบสนองต่อคำร้องอย่างรวดเร็วของยูฟ่า เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ปกป้องแฟนบอล และให้การสนับสนุนในทันที
ไม่เพียงเท่านี้ ยังให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก ผ่าน ‘โครงการ FootballALL’ ที่ใช้กีฬาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม ด้วยการโปรโมตผ่านข้อความที่เรียบง่ายทว่าสื่อความสำคัญได้เป็นอย่างดี อย่าง “In football, everyone is welcome” หรือ “ในโลกของฟุตบอล ทุกคนยินดีต้อนรับ”
ด้านธรรมภิบาล: ยูฟ่าใช้รูปแบบการดำเนินการที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และกิจกรรมต่างๆ สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ชี้เฉพาะเจาะจงในแต่ละด้าน ในการประเมินประสิทธิภาพของการใช้กลยุทธ์ ESG ในการจัดการแข่งขัน ซึ่งจะมีการเปิดให้สามารถเข้าประเมินได้ทางออนไลน์ ในช่วงปลายปี 2024 พร้อมร่วมแบ่งปันความรู้ความเข้าใจและแนวปฏิบัติที่ดี ในการหารืออย่างต่อเนื่องกับเมืองเจ้าภาพ พันธมิตร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านฟุตบอลต่อในระยะยาว
ทั้งนี้ สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมระดับชาติ ผู้เล่น แฟนบอล เมืองเจ้าภาพ หน่วยงานท้องถิ่น และพันธมิตร เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่จัดการแข่งขัน EURO 2024 ทั้ง 10 แห่ง มีผู้จัดการสถานที่ด้านความยั่งยืนที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครประมาณ 50 คน ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก: UEFA