วันที่ 17 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท วาระแรกที่ ครม. เสนอ เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกคนละ 1หมื่นบาท
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า มีคนในรัฐบาลนี้อ้างว่าเราทำเหมือนประเทศสิงคโปร์ ที่นายกฯ คนใหม่ของสิงคโปร์เป็นคนประกาศแจกเอง แต่ตนขอทำความเข้าใจใหม่ว่า การที่สิงคโปร์แจกนั้น เขาแจกจริง เพราะเขามีเงินงบประมาณเหลือพอที่จะให้แจก แต่ประเทศไทยเป็นการกู้มาแจก จึงเป็นคนละเวอร์ชั่นกัน ตนไม่เคยต่อต้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ในทางตรงกันข้าม ตนได้ทวงถามแทนประชาชนทุกครั้งว่า เงิน 1 หมื่นบาท ที่รัฐบาลประกาศที่จะแจกตั้งแต่ตอนหาเสียงจะได้เมื่อไร และจะได้กี่โมง วันนี้ก็ยังทวงถามรัฐบาลอีกครั้งถึงสัญญาที่ใช้หาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนรัฐบาล รวมถึงผลที่ตามมาของโครงการนี้ เพราะความล่าช้าของโครงการ หรือความโหลยโท่ยของรัฐบาล ที่บริหารราชการแผ่นดินเหมือนเด็กเล่นขายของ เปรียบเป็นไม้หลักปักขี้เลน โอนไปเอนมา เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ตั้งแต่ที่มาของแหล่งเงินงบประมาณที่จะใช้ ขนาดนายกฯ ออกมาโชว์พาวนำทีมแถลงเองว่า บอกว่าต่อไปนี้ชัดเจน แล้วต่อมาก็ยกเลิกสิ่งที่ตัวเองแถลง นายกรัฐมนตรีท่านนี้เชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องเลื่อนทำโครงการไปเรื่อยๆ เพราะงบประมาณยังล่องลอยอยู่ในอากาศ
“ตอนหาเสียง คงจำได้แจกทันทีไม่มีกู้ พอเป็นรัฐบาลไม่กี่วันออกลาย เลื่อนทันที มีแต่กู้ ถึงขั้นออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่สุดท้ายยกธงขาว เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมายว่า ทำไม่ได้เพราะที่รัฐบาลพยายามสร้างประเด็นว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติ เอาเข้าจริง ประเทศไม่ได้วิกฤติถึงขั้นต้องกู้มาแจกจึงเปลี่ยนมาเป็นจะใช้เงิน ธ.ก.ส. แทน ท่ามกลางเสียงเตือนว่า สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะเงิน ธ.ก.ส. มีไว้ดูแลเกษตรกรเท่านั้น แต่จะเอามาแจกแบบเหวี่ยงแหหรือแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ที่ตนอภิปรายไปคราวที่แล้วว่า ทำไม่ได้ มันสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลก็เสียงแข็งยืนยันว่า ทำได้ เสียเวลาไปสามเดือน เพราะความดื้อรั้นดันทุรังของรัฐบาล จนสุดท้ายรัฐบาลต้องโยนผ้าอีกรอบ แสดงว่ายืนยันมาตลอดแค่ปากกล้า ขาสั่น สร้างความหวังให้ประชาชนไปวันๆ เท่านั้นเอง” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อวานซืนก็มาใหม่อีกแล้ว ขอเปลี่ยนเป็นแหล่งเงินที่จะมาแจก มาจาก 2 แหล่งคือ 1. จากงบฯ ปี 67 จำนวน 165,000 ล้านบาท 2. งบฯ ปี 68 จำนวน 285,000 ล้านบาท รวมเป็น 450,000 ล้านบาท โดยงบฯ ปี 67 แยกเป็น 2 ก้อน งบฯ ปี 68 ก็แยกเป็น 2 ก้อน รวมเป็น 4 ก้อน คืองบฯ ปี 67 จำนวน 165,000 ล้านบาท แยกเป็นงบกลางปี 122,000 ล้านบาท ที่กำลังขอสภาอยู่ขณะนี้ และกำลังพิจารณาอยู่ว่า ได้หรือไม่ได้ ส่วนอีกก้อนไปใช้คำว่า ไปบริหารจัดการ อีกจำนวน 43,000 ล้านบาท ส่วนงบฯ ปี 68 แยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกงบกลางของงบฯ ปี 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภา วันนี้ยังไม่จบ จำนวน 152,700 ล้านบาท และอีกก้อนหนึ่งรัฐบาลก็ใช้คำหรูว่า เป็นงบเกิดจากการบริหารจัดการ อีก 132,300 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าอยู่ไหนเลย แต่ความจริงคือ ถึงวันนี้เม็ดเงินจริงๆ ยังไม่มีสักบาทเดียว ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ เพราะยังต้องรอขั้นตอนกระบวนการทั้ง 450,000 ล้านบาท หลายประเด็นจึงยังไม่นิ่ง และนิ่งไม่ได้ เพราะรัฐบาลบริหารแบบ คิดไปทำไปและที่ร้ายที่สุด ถ้าใครติดตามอย่างละเอียดจะพบว่าเป็นแบบสวนมาสวนกันไปของคนในรัฐบาลเดียวกัน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนงบประมาณรายจ่ายกลางปีงบประมาณ 2567 โดยเฉพาะงบฉุกเฉิน ที่ใช้ไปแค่ 3,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น จากงบประมาณ 95,000 ล้านบาท เพื่อขยักการใช้เงินก้อนนี้ ให้เหลือใช้เพื่อนำไปแจก 43,000 ล้านบาท และงบประมาณปี 2568 จำนวน 132,300 ล้านบาท ขอถามย้ำว่า รัฐบาลจะนำงบฯ จำนวนนี้มาจากแหล่งใด จะใช้กลไกของกรรมาธิการเสียงข้างมากตัดจากงบฯ ต่างๆ และใช้มติ ครม.นำกลับไปใส่ในงบกลางใช่หรือไม่ ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 ที่อภิปรายกันวันนี้ ก็มีเนื้อหาเพียง 6 มาตรา แต่ขอวงเงินสูงถึง 122,000 ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้เพียง 10,000 ล้านบาท หากจะอนุมัติ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเท่ากับว่า เป็นการอนุมัติให้รัฐบาลกู้เงินชดเชยอีก 112,000 ล้านบาท เพื่อนำมาแจกสนองนโยบายของรัฐบาล ส่วนการใช้หนี้ ทั้งต้นทั้งดอกปัดภาระให้เป็นเรื่องของอนาคต ที่รัฐบาลหน้า และคนรุ่นต่อไปรับผิดชอบ
“นอกจากนี้ ยังอ้างถึงรายจ่ายลงทุนที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่มีการวิจารณ์กันมาก เพราะงบฯ ฉบับนี้ระบุรายจ่าย 122,000 ล้านบาทว่า รายจ่ายประจำร้อยละ 20 หรือ 24,400 ล้านบาทเป็นรายจ่ายประจำ แต่รายจ่ายการลงทุนร้อยละ 80 หรือจำนวน 97,600 ล้านบาท ถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงตีความว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจึงนับเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน เพราะว่าโครงการนี้ไม่ใช่เงินลงทุน แต่เป็นเงินโอนเพื่อการใช้บริโภค การไปวินิจฉัยเองว่า 122,000 ล้านบาทเท่ากับเงินลงทุนร้อยละ 80 นี่มันคาบลูกคาบดอกไปหรือไม่ แล้วสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยง พ.ร.บ.การเงินการคลังมาตรา 20 (1) ต่อไป ผมเข้าใจว่า รัฐบาลพยายามใส่ฟองสบู่ให้เห็นว่า เงินที่ขอกู้วันนี้จริงๆ เอาไปลงทุนเยอะ ไม่ได้เอาไปบริโภคอย่างเดียว แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในการพัฒนาต่อไปแต่มันหนีความจริงไม่พ้นว่าที่นำไปแจกให้ไปบริโภค ไม่เช่นนั้นจะกำหนดสินค้าทำไม” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับความคุ้มค่าที่รัฐบาลนี้ย้ำมาหลายครั้งว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% และทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ภายใน 6 เดือน แล้วจะทำให้จีดีพีดิจิทัลวอลเล็ตโต 1.2-1.8% แต่ตนมองสวนทางกันว่าโครงการนี้ได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งได้ไม่คุ้มเสียไม่แค่เพียงตัวเลขที่รัฐบาลบอกเท่านั้น แต่ยังมีค่าเสียโอกาสหากรัฐบาลนำเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ไปดำเนินการอย่างอื่นได้มากกว่านี้ เช่น นำไปแจกกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนจน จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทันที และนำเงินก้อนที่เหลือไปลงทุนด้านอื่นเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่า เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างคนในระบบเศรษฐกิจ สร้างคนในระบบการศึกษารองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การกู้มาจ่ายใน 6 เดือนเหมือนโยนหินลงน้ำหนึ่งก้อน เกิดแรงกระเพื่อมครั้งเดียวก็หายไป แต่ที่จะเกิดตามมาก็คือพายุหมุนแต่เป็นพายุหมุนที่หมุนนำหนี้ก้อนโตมาให้คนไทยต้องชดใช้ไปอีกนานเท่านาน เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่า ขอให้ข้าได้หาเสียง ที่พวกเราได้พูดกันอยู่ในสภา
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงเรื่องความไม่โปร่งใสว่า ขอเตือนรัฐบาลให้ระวัง อย่าให้แรงกู้ครั้งนี้เป็นแรงกู้ไร้อนาคตเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นอันขาด เพราะขณะนี้ยังมีคำถามจากประชาชน เช่น เหตุใดไม่แจกบุคคลตั้งแต่อายุ 13 ปีเป็นต้นไป พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า การแจกผู้ที่อายุ 16 ปี ทำให้อีก 2 ปี ก็จะสามารถลงคะแนนได้ หากแจกเด็กอายุ 13 ก็อาจจะเสียของ จึงเห็นว่าเหตุผลนี้เป็นคำตอบ จึงขอให้รัฐบาลได้รับทราบแผนที่มีการเปลี่ยนไปใช้แอปทางรัฐ แต่ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นทางรอดของคนจนและกลุ่มเปราะบางชั่วคราวเท่านั้น เป็นทางรอดของพรรคการเมืองแต่ไม่ใช่ทางรอดของประเทศ.