จากความอร่อยและเป็นตำนานบวกกับกระแสโซเชียลทำให้ย่าน จุฬาฯ -บรรทัดทอง-สามย่าน เป็นสตรีทฟู้ดที่ที่มาแรงในตอนนี้ มีทั้งนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาตามลายแทงของอร่อย โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้เข้ามาจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดูแลเรื่องขยะ สภาพแวดล้อมเพื่อรองรับย่านสมาร์ทซิตี้
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กสทช. สำนักงานเขตปทุมวัน และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดบนเสาไฟฟ้า บริเวณพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง ครอบคลุมพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง กว่า 600 ไร่ รองรับการใช้งานพื้นที่สามย่านสมาร์ทซิตี้ ภายใต้แนวคิด “CU POWER OF TOGETHERNESS” เพิ่มเสถียรภาพการสื่อสาร ความปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยทัศนียภาพสวยงามให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการแทนอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัญหาสายสื่อสาร รกรุงรังในพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง ส่งผลกระทบทั้งด้านความสวยงามและความปลอดภัย สายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบไม่เพียงแต่ทำให้ทัศนียภาพของพื้นที่ดูไม่น่ามองแล้ว แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ และส่งผลต่อเสถียรภาพของการใช้บริการอินเตอร์เน็ตภายในพื้นที่อีกด้วยโดยจะดำเนินการตัดและรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานออกทั้งหมดโดย PMCU ได้เตรียมการมากกว่า 1 ปี ในการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงใหม่ โดยได้บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปัจจุบันการติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว ซึ่ง PMCU ได้ให้สิทธิ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการการใช้โครงข่ายเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งการตัดสายสื่อสารจะเรียบร้อยภายใน 1เดือนหลังจากนี้
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ PMCU ยังได้เตรียมการที่จะร่วมกับกรุงเทพมหานครในการปรับปรุงงานกายภาพ สาธารณูปโภคอื่น ๆ ในพื้นที่สามย่าน-บรรทัดทอง-สวนหลวง อย่างต่อเนื่อง อาทิ ทางเดินเท้า ไฟส่องสว่าง การจัดการขยะเศษอาหาร จุดรับส่งอาหาร การบำบัดน้ำทิ้งน้ำเสียในคลองสวนหลวง เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่บรรทัดทองมีทัศนียภาพที่ดีสวยงามสะอาดตาและเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องปักหมุดเช็คอินอีกที่หนึ่งในฐานะแลนด์มาร์คแห่งการท่องเที่ยวสำคัญกลางกรุงเทพฯที่ต้องมาเยือน
“วันนี้คำว่าสมาร์ทซิตี้เราเลยเถิดเรื่องประโยชน์ในสอยในพื้นที่ไปแล้ว เรามีความสมาร์ทในเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ทำให้คนมาเยือนแล้วเป็นพื้นที่แห่งความสุข” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้ต้องขอขอบคุณ PMCU ที่ให้ความสำคัญกับงานกายภาพและระบบสาธารณูปโภคที่มีการปรับปรุง และร่วมพัฒนาย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ และสิ่งสำคัญ คือ คำนึงถึงผู้มาใช้บริการ รวมถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและมีความยั่งยืน
ถนนบรรทัดทองเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพมหานครเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่มีนักท่องเที่ยวและมีผู้ใช้บริการมาเยี่ยมเยือนจำนวนมากในแต่ละวัน กทม. ยินดีสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมย่านนี้ให้ดียิ่งขึ้น ให้เป็นย่านที่เดินได้ เดินดี มีความปลอดภัย แสงสว่างเพียงพอ และมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยถนนบรรทัดทอง กทม. มีนโยบายปรับปรุงทางเท้าอยู่แล้วจึงถือเป็น
โอกาสบูรณาการร่วมกันในจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย
ด้าน รศ.ดร.วิษณุ ทรัพย์สมพงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าใน 2 ปีที่ผ่านมากทม.ได้เร่งรัดให้มีการนำสายสื่อสารลงดินให้เร็วขึ้นโดยได้ประสานงานกับทุกภาคส่วน นำมาสายไฟฟ้าลงดินไปแล้ว 90 กิโลเมตรเฉลี่ยปีละ 50กิโลเมตรและอีกส่วนคือการจัดเก็บสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานได้ทำไปแล้วปประมาณ 200 กิโลเมตรตั้งเป้าจะดำเนินการจัดสายสื่อสารลงปีละ 300 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร เป็นหนึ่งในนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ที่ กทม. ให้ความสำคัญและได้ผลักดัน โดยในปี 2567 นี้ กฟน. และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จำนวน 27 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 54.6 กิโลเมตร และยังจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 122 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 269.6 กิโลเมตร ทั้งนี้สายสื่อสารที่พาดผ่านแนวสายไฟฟ้าต่างๆในพื้นที่กทม.ไม่ได้ใช้งานเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์