ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมชมงานกว่า 15 ล้านคน ในการแข่งขัน 800 รายการ และมีนักกีฬากับทีมงาน 15,000 คน รวมถึงอาสาสมัครอีก 45,000 คน แล้วชาวฝรั่งเศสเขาวางแผนสำหรับการกลับมาของการแข่งกีฬาโอลิมปิกในรอบ 100 ปีนี้กันอย่างไร
ทีมงานต้องทุ่มเทด้วยจิตวิญญาณ และตั้งเป้าหมายที่ท้าทายสุด ๆ
ชาวฝรั่งเศสมีชื่อเสียงในเรื่อง พลังของความคิดสร้างสรรค์ มีความทุ่มเท เอาจริงเอาจัง และแผนการที่ยอดเยี่ยม พวกเขาเริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายที่จะลดคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งให้ได้ ที่เดิมโอลิมปิกทุก ๆ ครั้งตั้งแต่ London 2012, Rio 2016, Tokyo 2020 จะสร้าง Carbon Footprint เฉลี่ยราว 3.5 ล้านตัน และอาจจะลดลงบ้างตอนจัดที่ Tokyo เพราะแทบไม่มีผู้ชมในสนามในช่วง Covid-19 ครั้งนี้ชาวฝรั่งเศสตั้งเป้าไว้ที่ 1.75 ล้านตัน มีทั้งแผนการลดคาร์บอนในการจัดงาน และแผนการชดเชยคาร์บอน ไปสนับสนุนโครงการทางสิ่งแวดล้อม และสังคมทั่วโลก
การลดคาร์บอนของชาวฝรั่งเศสมาจาก 5 ยุทธศาสตร์หลัก
1.ความคิดและจิตวิญญาณ คณะทำงานเริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกให้ความยั่งยืนอยู่ในทุกอณูของการจัดงาน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า โดยตั้งเป้าลดคาร์บอนลงครึ่งหนึ่ง สอดคล้องกับปฏิญญา Paris Agreement on Climate Change ที่ทำเช่นนี้ได้ ทีมงานเริ่มจากการเลือกวัสดุต่าง ๆ ที่มีคาร์บอนตํ่า Material Footprint เป็นครั้งแรกในโลก ต้องรู้ที่มาที่ไป ต้องวางแผนตลอดห่วงโซ่วัสดุให้คุ้มค่าที่สุด และไม่กลายเป็นขยะหลังเลิกงาน ด้านพลังงาน ทีมงานตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานสะอาด 100% ในทุกอาคารและการเดินทาง ที่เคยใช้ดีเซลก็เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือไฮโดรเจน อาคารส่วนใหญ่ก็ปรับปรุงจากอาคารเดิม เติมสวนดาดฟ้าเพื่อดึงดูดนกและแมลง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศให้กรุงปารีส
2.พอเพียง ลดใช้ซํ้า และเช่าชั่วคราว ทุกการตัดสินใจ ทีมงานฝังแนวคิดพอเพียงคุ้มค่าหมุนเวียนเข้าไป 95% ของสิ่งก่อสร้าง สนามกีฬา บ้านพัก สำนักงาน และใช้ของเดิมมาปรับปรุงใหม่ และทุกการปรับปรุงใช้วิธีก่อสร้างคาร์บอนตํ่าทั้งหมด สนามกีฬาที่สร้างขึ้นใหม่มีเพียง The Aquatic Center ซึ่งออกแบบให้เป็นอาคารสุดยอดยั่งยืนต้นแบบ มีแผงโซลาร์บนหลังคา 4,680 ตารางเมตร ที่นั่งผู้ชมทำจากพลาสติก recycle และใช้ไม้จากป่าปลูกแบบยั่งยืนเป็นวัสดุก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในสนามกีฬาต่าง ๆ ก็ใช้ของเก่าหยิบยืมจากสมาคมกีฬาต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่สร้างคาร์บอนใหม่ และอาคารต่าง ๆ ถูกวางแผนเพื่อแปรสภาพไปใช้งานใหม่หลังแข่งขัน นับเป็นการวางแผนชีวิตที่สอง second life ของสิ่งต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด
3.นวัตกรรมกับความคิดสร้างสรรค์ แม้มีเพียงย่านเล็ก ๆ ที่มีการก่อสร้างใหม่ เช่น สนามกีฬาทางนํ้า หอพักนักกีฬาส่วนเพิ่ม และพื้นที่บริการต่าง ๆ ที่ทุกการออกแบบได้ใส่ความคิดเรื่องความยั่งยืนไว้แล้ว ซึ่งเมื่อจบการแข่งขันจะแปรสภาพให้เป็นประโยชน์กับชุมชน มี Universal Design สร้างมูลค่าเพิ่มให้ย่านนั้น รวมถึงการออกแบบสิ่งแวดล้อมรอบสนามกีฬาก็เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ระบบนิเวศ เสริมความสะอาดสวยงามของแม่นํ้า และลดเสียงจากการจราจรด้วย
4.ความยั่งยืนบนโต๊ะอาหาร องค์กรด้านอาหารกว่า 120 แห่ง ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานผลิต เชฟ ผู้จัดอาหาร รวมถึงนักกีฬากว่า 200 คน ร่วมกันวางแผนการจัดการอาหารกว่า 13 ล้านมื้อให้ออกมายั่งยืนที่สุด และจะเป็นงานแรกที่มีอาหารอนาคต plant-based เพิ่มเป็น 2 เท่า และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ได้กว่า 80% และส่วนใหญ่ต้องมาจากแหล่งผลิตที่ไม่ไกลกว่า 250 กม. รวมทั้งคำนวณเศษอาหารเหลือทิ้ง และการจัดการปลายทางไว้ล่วงหน้า จะไม่มีพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ภาชนะอาหารต้อง recycle ได้ และติดตั้งจุดเติมนํ้ากับเครื่องดื่มกระจายอยู่ทั่วเมือง เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนพกภาชนะใส่นํ้าส่วนตัวให้เป็นนิสัย
5.การเดินทางระยะใกล้และคาร์บอนตํ่า ทีมงานจราจรได้วางแผนการจัดการใหม่ จากที่พักไปสนามแข่งขัน ให้มีระยะทางสั้นที่สุดไม่เกิน 10 กม. มีการวางแผนปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะใหม่ ให้สะดวกเชื่อมต่อได้ง่าย เติมถนนคนเดิน และปรับทางจักรยานใหม่อีก 1,000 กม. โดยให้การเดินทางทั้งหมดเป็นการเดินทางคาร์บอนตํ่าที่ใช้พลังงานสะอาด ทั้งนี้ได้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมอีกกว่า 200,000 ต้น ทั่วเมือง
นี่คือตัวอย่างแค่บางส่วนที่ชาวฝรั่งเศสเตรียมการเรื่องความยั่งยืนกันมากว่า 3 ปี ถ้าชาวฝรั่งเศสทำได้ คนไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน เพราะประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เราไม่ยอมเป็นรองฝรั่งเศสไม่ว่าสมัยใด และถ้าหากเราจะเริ่มกันจริง ๆ ก็ขอให้กลับไปดูข้อ 1. คือ “ความคิดและจิตวิญญาณ”
.