หนึ่งในไฮไลต์ที่น่าสนใจ เปิด เวทีประกวดผลงานวิจัยเด่นที่น่าลงทุน ปีนี้มีจำนวน 8 ผลงาน มาจาก สวทช. 5 ผลงาน และพันธมิตร 3 ผลงาน ผลปรากฏว่ารางวัลผลงานที่น่าลงทุนที่สุดประจำปี 2567 จากการโหวตจากนักลงทุนและประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผลงาน Nano Cool Paint สีทาภายนอกเพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว จาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ของ ดร.ศรัณย์ อธิการยานันท์ ซึ่งผลงาน Nano Cool Paint เป็นสีทาภายนอกเพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว เนื่องจากในอนาคตที่อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น การจะหลบร้อนในบ้านหรืออาคารจะต้องไม่ร้อนตาม ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น การเปิดแอร์แม้ช่วยลดความร้อน แต่ค่าไฟก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นวิธีที่จะลดอุณหภูมิพื้นผิวโดยไม่ต้องพึ่งการใช้ไฟฟ้า ด้วยการใช้ทาสีภายนอกเพื่อให้อุณหภูมิภายในลดลง แต่ให้ประสิทธิภาพแตกต่างจากสีในท้องตลาดทั่วไปให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดได้ถึง 94 % จึงเป็นที่มาของผลงาน Nano Cool Paint
“สีทาภายนอกเพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว Nano Cool Paint อาศัยหลักการทางธรรมชาติจากแมลงปีกแข็งสีขาว “Coolest” ที่
มีคุณสมบัติตัวเย็นที่สุดแม้จะเดินในทะเลทราย จากการศึกษาปรากฏการณ์ของแมลงตัวนี้พบว่า สามารถทำความเย็นทางรังสี ซึ่งมีกระบวนการอยู่ 2 อย่าง คือ การสะท้อนแสงอาทิตย์และการแผ่รังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงได้พัฒนาสู่อนุภาคนาโนปรับขนาดให้มีประสิทธิภาพการทำความเย็น สามารถใช้ในสีได้ โดยจุดเด่นของ Nano Cool Paint ช่วยลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ จาก 86% เป็น 94% เพิ่มการปล่อยความร้อนจาก 90% เป็น 93% และเมื่อทดสอบภาคสนามเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไปพบว่า ลดอุณหภูมิพื้นผิวได้ดีกว่าสีทั่วไป 3-4 องศา
นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ดีกว่าสีทั่วไปถึง 15% โดยอนุภาคนาโนใช้การผลิตสีทั่วไปแบบมาตรฐาน ใช้งานง่าย ทาสะดวก แห้งไว อนุภาคนาโนยังสามารถใช้ได้ในสีหลากหลายชนิดนอกจากสีทาอาคาร” ดร.ศรัณย์กล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน Nano Cool Paint อยู่ระหว่างเสาะหาผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมสีทาบ้าน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับรางวัลผลงานที่นำเสนอดีที่สุด ได้แก่ ดร.ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) คว้ารางวัล “ผลงานที่นำเสนอได้ดีที่สุด” จากการนำเสนอผลงาน NomadML แพลตฟอร์ม AI ที่พัฒนาขึ้นสำหรับงานทางด้าน Computer vision ซึ่งนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในการตรวจสอบการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น QC รอยเชื่อมสีว่ามีรอยหรือไม่ การทำงานบนแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมบางส่วนยังมีความรู้สึกยุ่งยากในการนำ AI ไปใช้ เพราะต้องใช้คนในการเขียนโค้ด เทรนโมเดล และนำออกไปใช้.