นายเพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในสวนยางพารา ภายใต้การดำเนินการของ กยท. ในเบื้องต้นนี้ คาดว่า กยท. จะเริ่มดำเนินการรับซื้อที่ 1 พันตันก่อน โดยตั้งราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท คิดเป็นปริมาณน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตได้ประมาณ 160,000 ลิตร ซึ่งรองรับการใช้ในสวนยางพาราได้ประมาณ 320,000 ไร่ โดยจะนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่อยู่ในแปลงใหญ่ และส่วนที่เหลือจากการแจกจ่ายจะมอบหมายให้หน่วยธุรกิจของ กยท. (Bussiness Unit) นำไปจำหน่ายแก่เกษตรกรชาวสวนยางและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในพืชประเภทอื่น เช่น พืชสวน พืชไร่ ข้าว เป็นต้น ในราคา 99 บาท/ลิตร
“พร้อมกันนี้ ทางบอร์ด กยท. ได้มอบหมายให้ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. ได้ดำเนินการส่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำไปให้กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบคุณภาพว่า ผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลักดันให้ยกมาตรฐานเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ซึ่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำอุดมไปด้วยธาตุอาหารสูง เหมาะกับการนำไปใช้ในการเกษตร สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 25% และในอนาคต กยท. มีแผนที่จะขยายการผลิตด้วยการนำมาปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ปลาร้า ปลาส้ม เป็นต้น”
ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มีข้อสงสัยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เกี่ยวข้องกับ กยท. อย่างไร ต้องเรียนชี้แจงว่า ในการเข้าไปร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของ กยท. ในส่วนที่เกี่ยวกับการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองด้วย นอกจากรายได้การเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (CESS) ทั้งนี้ บอร์ด กยท. ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ได้อนุมัติงบประมาณ มาตรา 13 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 91 ล้านบาท จึงนำเงินส่วนนี้มาดำเนินการภายใต้โครงการจำหน่ายปัจจัยการผลิต งบประมาณ 50 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการจัดซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหมักชีวภาพมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดิน
“ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการศึกษาวิจัย จนได้สูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำที่ได้มาตรฐาน และมีการเผยแพร่ไปสู่เกษตรกร ซึ่งมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น มีไนโตรเจนถึง 0.93เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.16 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.34 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ดังนั้น การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำตามมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดิน จึงเป็นโอกาสของ กยท. ในการสร้างธุรกิจใหม่ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะจำหน่ายน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ในราคาลิตรละ 99 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้ในสวนยางพาราได้ถึง 2 ไร่ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ลดการใช้สารปุ๋ยเคมีลงอีกด้วย รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสวนยางพาราอีกด้วย”