สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ว่า ตั้งแต่ปี 2568 มหาวิทยาลัยครูในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน จะย้ายหลักสูตรปริญญาโท 17 หลักสูตร จากรอบ 2 ปี เป็น 3 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพการปลูกฝังบัณฑิตศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ในปีการศึกษา 2567 ทางมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรเต็มเวลาแบบนี้มากกว่า 100 หลักสูตร
Chinese colleges extend postgrad programmes as job pressure builds https://t.co/05kD8IQGLX
— ST Foreign Desk (@STForeignDesk) July 26, 2024
เช่นเดียวกับบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยครูมองโกเลียใน ซึ่งขยายระยะเวลารับนักศึกษาระดับปริญญาประมาณ 12 หลักสูตร ในปี 2568 อ้างอิงตามความต้องการในการปลูกฝังบัณฑิตศึกษาที่เป็นมืออาชีพ เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยเสิ่นหยาง ลี่กง และมหาวิทยาลัยนานาชาติซีอาน
ด้านโลกโซเชียลจีน เชื่อมโยงนโยบายใหม่ของสถาบันเหล่านี้ กับความพยายามในการลดแรงกดดันต่อตลาดงานที่ซบเซา ซึ่งการว่างงานของเยาวชนเป็นปัญหาละเอียดอ่อนสำหรับรัฐบาล และความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางสังคม “นี่อาจช่วยเรื่องอัตราการว่างงาน” ผู้ใช้เว่ยป๋อคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต “ทำไมคุณไม่ขยายอายุที่บริษัทต่าง ๆ ชอบในการจ้างคนล่ะ” ผู้ใช้อีกรายกล่าว โดยอ้างถึงการที่บริษัทจีนมีชื่อเสียง มักเลือกปฏิบัติต่อการจ้างบุคลากรซึ่งมีอายุมากกว่า 35 ปี
อัตราการว่างงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีในจีน พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 21.3 เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ทำให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ หยุดเผยแพร่ข้อมูลชั่วคราว แม้ตัวเลขดังกล่าวไม่รวมจำนวนนักศึกษา แต่มากกว่าอัตราการว่างงานโดยรวมมากกว่า 2 เท่า
ขณะที่ความน่าดึงดูดใจของหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะซบเซาของอสังหาริมทรัพย์ และการตรวจสอบ ตลอดจนการปราบปรามการทุจริตในภาคเอกชนอย่างหนัก ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เช่น ในบริษัทเทคโนโลยีและการศึกษา ซึ่งเป็นผู้จ้างนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรายใหญ่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับตัวเอง และรอโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า โดยจำนวนของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มุ่งหน้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา อยู่ที่ร้อยละ 20.3 ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.4 ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES