เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัด กทม.ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. และน.ส.เต็มสิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ชี้แจงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องทุจริตของ กทม. ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสำหรับศูนย์กีฬาและศูนย์นันทนาการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 โครงการ ได้ดำเนินการตรวจสอบตามกรอบระยะเวลา 30 วัน โดยไม่มีการขยายระยะเวลา และได้เสนอรายงานการสืบสวน เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา
รองปลัด กทม. กล่าวว่า จากการสืบสวนทั้งพยานบุคคลและเอกสารพบว่า มีการจัดซื้อแพงเกินจริง โดยราคาจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงกว่าราคาที่เคยจัดซื้อในปีก่อน ๆ และสูงกว่าราคาต้นทุนรวมค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก ซึ่งรายละเอียด TOR พบว่า มีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้มีการเข้าเสนอราคาได้อย่างเท่าเทียม อาทิ การกำหนดจำนวนสัญญากับภาครัฐในระยะเวลาจำนวนปี และมีการกำหนดคุณสมบัติของเครื่องออกกำลังกายที่เกินความจำเป็น เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพิ่มการรองรับน้ำหนัก และจอแสดงผลระบบสัมผัส เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ทั้งการพิจารณางบประมาณและการดำเนินการจัดซื้อ รวม 25 ราย โดยหลังจากนี้จะมีการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัด กทม.ได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีชื่อเกี่ยวข้องในกระบวนจัดซื้อทั้ง 7 โครงการ ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักปลัด กทม.แล้ว
รองปลัด กทม. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาผลการสืบสวนอย่างละเอียด เพื่อพิจารณาเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 และจะดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และพิจารณาลงโทษต่อไป ส่วนกรณีจากการสืบสวนพบว่ามีการจัดซื้อแพงเกินจริงถือว่า กทม.ได้รับความเสียหาย ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อพิจารณาให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ในส่วนของทั้ง 7 โครงการที่สืบสวนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย
1.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายสำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัด สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
2.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 16 รายการ สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัด สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
3.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 21 รายการ สำหรับ ศูนย์กีฬาอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 21 รายการ สำหรับ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
5.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 10 รายการ สำหรับ ศูนย์กีฬามิตรไมตรี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
6.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 11 รายการ สำหรับ ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
7.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะทางกาย 11 รายการ สำหรับ ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. กล่าวสรุปกระบวนการดำเนินการว่า จากผลการสืบสวนจะมีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การดำเนินการทางอาญา ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่ได้มีอำนาจ จึงได้ส่งต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมาย (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542) ส่วนที่ 2 การดำเนินการทางวินัย ซึ่ง กทม.กำลังจะดำเนินการต่อ โดยกำหนดระยะเวลา 120 วัน นับจากวันที่เริ่มประชุมคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงครั้งแรก และสามารถขยายระยะเวลาได้ 1 ครั้ง โดยขยายได้ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งกระบวนการภายในระยะเวลาที่กำหนดนี้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา
โดยจะสรุปพยานหลักฐานที่เข้าข่ายการทำความผิด ให้โอกาสชี้แจงแสดงเหตุผลหรือหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างให้ตัวเอง สุดท้ายคณะกรรมการสอบสวนฯ ก็จะสรุปว่ามีความผิดหรือไม่ และต้องเสนอระดับโทษมาให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งพิจารณาต่อ โดยมีกำหนดระยะเวลาให้ผู้มีอำนาจฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 45 วัน และส่วนที่ 3 การดำเนินการทางแพ่ง ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจะพิจารณาหาผู้รับผิดมาคืนเงินให้แก่ กทม.
โฆษก กทม. กล่าวต่อไปว่า กทม.จะดำเนินการในแต่ละขั้นตอนด้วยความรอบคอบและรวดเร็วเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายและประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้มีกระบวนการเพื่อความโปร่งใส 3 ระยะ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะผู้บริหาร กทม. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการบริหารการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมาดูแลเรื่องงบประมาณ มีการเปิดเผยข้อมูลแบบ Open Data ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ มีการนำ ACT Ai มาช่วยตรวจสอบ มีการเตรียมทีมทำราคากลางเรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย รวมถึงมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.)
สำหรับผลการดำเนินงานของ ศตท.กทม. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีคำสั่งไล่ออก/ปลดออกข้าราชการ จำนวน 29 ราย แบ่งเป็นกรณีเข้าข่ายทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 ราย ได้แก่ ทุจริตเรียกรับสินบน 6 ราย ทุจริตไม่นำส่งเงิน 3 ราย และทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 3 ราย ส่วนอีก 17 ราย เป็นกรณีผิดวินัยอย่างร้ายแรงอื่น เช่น ขาดงานเกิด 15 วัน ละเมิดทางเพศผู้เรียน ลอกเลียนผลงาน ยาเสพติด ปลอมเอกสาร หลอกลวงนำเงินไปลงทุน
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ทราบผลการสอบสวนแล้วโดยผลสอบสวนคือ มีมูลราคาสูงจริง และมีข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเกินความจำเป็นไป มีผู้เกี่ยวข้อง 25 ราย ซึ่งได้มีการย้ายออกไปแล้ว 3 ราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรง เพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน จากนี้ให้ปลัด กทม. ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการประจำ ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบทางวินัยต่อไป ในเรื่องนี้เดินไป 2 คือวินัยของกทม. และเรื่องทุจริตเป็นคดีอาญา เป็นของ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป พร้อมย้ำ กทม.เอาจริงเอาจัง ต้องขอบคุณ สส. และทุกคนที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ฝากเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานใช้เหมือนกันหมด ถ้ามีช่องโหว่ตรงไหน ก็ไม่ได้มีเฉพาะ กทม. ฝากให้เรื่องนี้เป็นแคมเปญใหญ่ ทั้ง สส. สภาใหญ่ สภา กทม. ช่วยกันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายอาจต้องไปปรับแก้เรื่องระเบียบต่างๆ ทางเราขอลุยเต็มที่และไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น.