เมื่อวันที่ 31 ก.ค. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลาปฏิบัติธรรม ณ ที่พักสงฆ์พระธรรมจาริกปางแก หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระธรรมวชิราธิบดี ประธานคณะพระธรรมจาริก เจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้แทนส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนจำนวนมากร่วมพิธี
พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม รองประธานพระธรรมจาริก กล่าวว่า โครงการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ อาศรมพระธรรมจาริก เกิดขึ้นจากโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย สำนักงานองคมนตรี ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของพระธรรมจาริกที่ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นที่สูง จึงได้ขอพระราชทานทุนในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของพระธรรมจาริกและประชาชนบนพื้นที่สูง โดยได้คัดเลือกที่พักสงฆ์พระธรรมจาริกปางแก ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เป็นสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งประชาชนบ้านปางแกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่นับถือพระพุทธศาสนาบนดอยสูง ที่พักสงฆ์พระธรรมจาริกปางแก เป็นหนึ่งในอาศรม 46 แห่งของพระธรรมจาริกใน จ.น่าน ที่มีความสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการพัฒนาบนพื้นที่สูง ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
รองประธานพระธรรมจาริก กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการพระธรรมจาริกก่อตั้งในปี 2508 โดยการดำริของพระธรรมกิตติโสภณ (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พระศรีวิสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และนายประสิทธิ์ ดิศวัฒน์ หัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์นำหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ปัจจุบันคณะพระธรรมจาริก ได้มีการขยายในพื้นที่การดำเนินการใน 20 จังหวัด มีพระธรรมจาริกปฏิบัติศาสนกิจทั้งในภาคเหนือและภาคกลางตามแนวชายแดน จำนวน 350 รูป 315 อาศรม (500 กว่าหมู่บ้าน) ซึ่งพระธรรมจาริกมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ชี้แนวทางในเรื่องพระพุทธศาสนา ศีลธรรม ความเชื่อและวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรบนพื้นที่สูงและภาครัฐมีบทบาทในกิจกรรมพัฒนาชุมชน อาชีพ รายได้ สิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยพระธรรมจาริกมีศูนย์ประสานงานใน 15 จังหวัด เพื่อรับรองการทำงานของพระสงฆ์และชุมชน มีการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของพี่น้องบนพื้นที่สูง นับว่า เป็นโครงการที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาในพื้นที่สูงของสังคมไทย