เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นำทีม สพฐ. ร่วมงาน “สพป. และ สพม.นครราชสีมา รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา” ณ หอประชุมบัวฉัตร โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัยนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมี นายกิตติพงศ์ โด่งพิมาย ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 1 นางนัยนา ตันเจริญ ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 2 นางนภาพรรณ นาดี ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 3 นายดำเนิน เพียรค้า ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4 นายปฐมเกียรติ ไชยคำ ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 5 นายศุภพงษา จันทรังษ์ ผอ.สพป.นครราชสีม เขต 6 นายประมวล บุญทีฆ์ ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 และนายสมเกียรติ ชิดไธสง ผอ.สพม.นครราชสีมา รวมทั้ง รอง ผอ.สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรและผู้สนใจในจังหวัดนครราชสีมาและหลายจังหวัดเข้าร่วมกว่า 800 คน และรับชมถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook live กว่า 5,000 คน พร้อมด้วยประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ ผู้แทนธนาคารออมสิน ผู้แทนธนาคารกรุงไทย และได้รับเกียรติจาก นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันการเงิน และหน่วยงานของรัฐ จึงจะสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ได้ทุกฝ่าย เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเงินเหลือใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อีกทั้งสถาบันการเงินยังได้รับชำระหนี้ ทุกฝ่ายประสบผลสำเร็จ สอดคล้องตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือ การที่จะทำให้เกิดการเรียนดีมีความสุขนั้น นอกจากจะสร้างบรรยากาศและพัฒนาคุณภาพในสถานศึกษาให้ดีขึ้นแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของครูก็ต้องดีด้วย รวมถึงหลายเรื่องที่สามารถดำเนินการจนสำเร็จ เช่น การยกเลิกครูเวร หรือการจัดหานักการภารโรง ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เรื่องนี้ฟังเหมือนน่าจะทำง่ายแต่ที่จริงแล้วไม่ได้ง่ายนัก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปหากพวกเราร่วมมือร่วมใจกัน เพราะวันนี้มีหลายจังหวัดที่สามารถดำเนินการได้แล้ว เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดอกเบี้ยลดเหลือ 4.75 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ การแก้ปัญหาหนึ่งครั้งจะส่งผลกับคนจำนวนมาก หากจังหวัดนครราชสีมาสามารถแก้ปัญหาหนี้ครูได้ 100% ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้
“ผมขอฝากทุกคนว่า วันนี้เราสวมหมวกสองใบ หนึ่งในฐานะผู้บังคับบัญชา สองในฐานะเพื่อนร่วมงาน ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรฯ จะเป็นเรื่องที่ทำคุณประโยชน์มากสำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการที่ให้ครูมีสมาธิกับการจัดการเรียนการสอน การที่ให้ครูได้รู้ว่าการทำอาชีพครูถึงแม้เกษียณไปแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ถือเป็นการคืนรอยยิ้มให้คุณครู ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากในภาพรวม เมื่อครูยิ้มได้ เด็กยิ้มได้ การศึกษาของประเทศไทยก็จะก้าวหน้าไปอีกขั้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายสิริพงศ์ กล่าว
ด้าน นางเกศทิพย์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร โดยได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ร่วมกับสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ เพื่อช่วยคลายทุกข์ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครูมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน ผ่านการเจรจาของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ผอ.เขต ที่เป็นผู้นำของข้าราชการครูและบุคลากร เป็นผู้มีบทบาทหลักที่จะทำให้บุคลากรในสังกัดที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ได้รับการคลายทุกข์ และทำให้ทุกคนได้รับเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% เพื่อการครองชีพที่เหมาะสม โดยไม่ให้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของครูทุกคน
“ขอชื่นชมสถานีแก้หนี้ครูของ สพป. และ สพม.นครราชสีมา ที่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ฯ พ.ศ. 2551 และทำหน้าที่ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินและทำให้ครูได้รับเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% ได้จริง ส่งผลให้ครูและบุคลากรฯ ยิ้มได้ จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับครูและบุคลากรฯ ทั่วประเทศได้ ทำให้ครูและบุคลากรฯ มีความรู้และทักษะด้านการเงิน สามารถป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริมและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างดี มีประสิทธิภาพสูงตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ “ความสำคัญของการยกเลิกการผูกขาดที่ครูจะต้องกู้ยืมจากสหกรณ์ในจังหวัดเท่านั้น เพื่อช่วยให้ครูได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม” โดย ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย “การไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาครูที่มีเงินดำรงชีพเหลือน้อยกว่า 30% และกรณีที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี” โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย “นโยบายและข้อเสนอของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน” โดยหน่วยงานด้านการเงินในจังหวัดนครราชสีมา อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการจังหวัดนครราชสีมา จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สามัญศึกษาจังหวัดนครราชสีมา จำกัด ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สาขาจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงการนำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน โดย สพป.นครราชสีมา เขต 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของ สพท. ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 8 เขต อีกด้วย
ข่าวล่าสุด
หากินง่าย! จับหนุ่มโกนหัวแต่งตัวเป็นพระ เดินบิณฑบาตเรี่ยไรเอาของไปขาย
1 กันยายน 2567
1:00 น.
สพฐ. รวมใจสร้างนักเรียนภูมิใจเป็นคนของพระราชา
1 กันยายน 2567
0:49 น.
ไม่ทิ้งกัน! ตำรวจมอบเงินช่วยเหลือ ‘ร.ต.อ.’ ถูกเด็ก 14 ปี แว้นแหกด่านชนเจ็บ
1 กันยายน 2567
0:05 น.
ชัชชาติลุยตรวจเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมความแข็งแกร่งรับมือน้ำเหนือ
31 สิงหาคม 2567
23:20 น.