ทว่าวันนี้ยามที่ท้องฟ้าเริ่มมืดมิด แสงไฟที่ดูราวกับดาวบนดินหากขึ้นไปอยู่ยังจุดชมวิวแห่งใดแห่งหนึ่งกลับดูดกลืนความงดงามของดวงดาวบนฟากฟ้าไปจนหมดสิ้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ซึ่งมีการประกาศเขตพื้นที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3
นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เปิดเผยว่า โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 3” เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.โดยมุ่งสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience – based – Tourism) โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย เรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน
“นอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามคํ่าคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ยังเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยว ทั้งยังสอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และนำไปสู่การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย”
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า และให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ เป็นผลให้ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จำนวน 30 แห่ง นับเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จะนำมากระตุ้น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น โดยมีการผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2567 มีพื้นที่ดูดาวจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 จำนวน 18 แห่ง ได้แก่
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.เชียงใหม่ ป่าสนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบริเวณสันอ่างเก็บนํ้าห้วยอ้อ เป็นพื้นที่เปิดโล่งและมีการควบคุมแสงสว่างอย่างเหมาะสม ทำให้สามารถชมดาวได้ทั่วท้องฟ้า อุทยานแห่งชาติถํ้าปลา-นํ้าตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน จุดชมดาวบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ถผ.4 (ปางตอง) บริเวณอ่างเก็บนํ้าปางตอง (ปางอุ๋ง) ซึ่งสูงจากนํ้าทะเล 1,150 เมตร ไม่เพียงเหมาะสำหรับสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยังเป็นจุดถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ทอดยาวผ่านแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานได้อย่างสวยงาม อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ จุดดูดาวอยู่บริเวณเดียวกับลาน ฮ. เป็นพื้นที่โล่งกว้างสามารถมองเห็นดวงดาวได้อย่างชัดเจน
อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่โล่งกว้างสำหรับสังเกตการณ์ท้องฟ้าที่มืดสนิทไร้แสงรบกวน สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าและวัตถุในห้วงอวกาศลึกได้ด้วยตาเปล่า อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร บริเวณสันอ่างเก็บนํ้าห้วยหวด และลานพลับพลาที่ประทับทรงงาน ตั้งอยู่บนความสูง 300-400 เมตรจากระดับนํ้าทะเล สามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ทอดยาวผ่านแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานได้ และ อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น มีพื้นที่โล่งกว้าง เงียบสงบ อยู่ห่างไกลชุมชนจึงไม่มีแสงสว่างรบกวน สามารถมองเห็นดวงดาวและวัตถุในห้วงอวกาศลึกได้ด้วยตาเปล่า
ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ท้องฟ้าเปิดโล่งกว้างขวาง สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าได้รอบทิศทาง เหมาะสำหรับกิจกรรมนอนดูฝนดาวตก
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 10 พื้นที่ ได้แก่ ฉ่าเก่อปอ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่โล่งมากกว่า 100 ตารางเมตร สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้รอบทิศทาง และห่างไกลจากแหล่งชุมชนจึงไม่มีแสงรบกวน เป็นพื้นที่ที่ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และวัตถุในห้วงอวกาศลึกได้ด้วยตาเปล่า พร้าวแคมป์ปิ้ง จ.เชียงใหม่ ลานจัดกิจกรรมกว้างขวางปราศจากเเสงรบกวน เงียบสงบ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีระบบติดตามดาว 6 ตัว คืนเดือนมืดสามารถมองเห็นทางช้างเผือก และวัตถุในห้วงอวกาศลึกได้ด้วยตาเปล่า ฮ่อมลมจอย จ.เชียงราย ด้านหลังทุกห้องพักสามารถมองเห็น “ฮ่อมลม” หมายถึง “ช่องเขา” เมื่อสังเกตการณ์ตอนกลางคืนจะเห็นดาวเหนืออยู่ตรงกลางช่องเขาพอดี การบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพหลังดวงอาทิตย์ตกจึงดูดาวได้ทันที
ภาวนานิเวศน์ แคมป์ จ.นครสวรรค์ มีแลนด์มาร์คคือต้นจามจุรีใหญ่ ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์สามารถถ่ายภาพมุมนี้คู่กับวัตถุท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ในคืนเดือนมืดสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า ภูคําหอม เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีวิวเขาธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวโอบล้อม ห่างไกลจากตัวเมืองทำให้มีแสงสว่างรบกวนน้อย สามารถเลือกดูดาวได้หลายรูปแบบตามความต้องการ ทั้งกางเต็นท์ หรือบนดาดฟ้าของห้องพัก ที่สามารถรับชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ได้ทั่วถึง 360 องศา สวนไพลินชมดารา จ.นครราชสีมา เป็นที่ตั้งของชมรมดาราศาสตร์ปากช่อง มีลานกิจกรรมกว้างขวาง พื้นที่โล่งสามารถมองเห็นดาวเหนือได้อย่างชัดเจน มีกล้องดูดาวคุณภาพสูงและหอดูดาวถึง 4 หลัง ซึ่งมีกล้องสำหรับถ่ายภาพทางดาราศาสตร์อยู่ภายใน สามารถควบคุมการถ่ายภาพจากระยะไกลได้ด้วย
อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง จ.นครราชสีมา สถานที่เงียบสงบเป็นส่วนตัวปราศจากแสงรบกวนเห็นดวงดาวได้อย่างชัดเจน พร้อมดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตกได้อย่างสวยงาม โรงแรมโซเนวา คีรี จ.ตราด มีอาคารหอดูดาวที่ให้บริการสำหรับกิจกรรมสำรวจกลุ่มดาวกับนักดาราศาสตร์ประจำหอดูดาว ภายในมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ Meade RX400 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 นิ้ว สามารถส่องดูผิวดวงจันทร์ วัตถุในห้วงอวกาศลึก บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา จ.พังงา สถานที่ดูดาวเป็นพื้นที่โล่ง สามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้าได้รอบทิศทาง มองเห็นกลุ่มดาวเด่นได้ด้วยตาเปล่า และ อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง จ.พังงา ลานบนเนินเขาทั้ง 2 ลาน จัดกิจกรรมดูดาวได้อย่างกว้างขวาง ปราศจากแสงรบกวน เงียบสงบ สามารถมองเห็นกลุ่มดาวและทางช้างเผือกได้แบบ 360 องศา
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี จ.ชลบุรี ลานสนามหญ้าโล่งกว้าง มีวิวทิวเขาล้อมรอบ สามารถกางเต็นท์มองวัตถุท้องฟ้าด้วยตาเปล่าได้แบบ 360 องศา สามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ด้วย เนื่องจากมีการควบคุมแสงสว่างที่เหมาะสมทำให้ท้องฟ้ามืดสนิทไร้แสงรบกวน
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/
อธิชา ชื่นใจ