จากกรณีภาครัฐแสดงจุดยืนรับซื้อปลาหมอคางดำ 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดหนัก โดยมีถึง 75 จุด ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 ตั้งราคารับซื้่อกิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นางปภาญา สังข์ทอง เจ้าของแพเข็มทอง เปิดเผยว่า ในส่วนของแพตัวเองนั้น ไม่ใช่เป็นจุดที่รับซื้อปลาหมอคางดำโดยตรง แต่ที่ผ่านมายอมรับว่าเคยมีปลาหมอคางดำจากบ้านแพ้ว ที่มาจากบ่อปลาบ่อกุ้งของลูกค้าที่นำมาขาย ซึ่งพบว่ามีปลาหมอคางดำมาด้วย ประมงจังหวัดจึงขอให้ทางตนเองช่วยรวบรวมปลาหมอคางดำไว้ให้ และให้ตนเองขึ้นทะเบียนในระบบ แต่จากการพูดคุยกับทางผู้ประกอบการด้วยกันกับ กลับพบว่าทั้งผู้รับซื้อและผู้ขายจะต้องมีใบอนุญาต จึงทำให้ไม่มีความชัดเจนกับเกษตรกร และไม่สามารถคุมราคาตามที่ทางรัฐกำหนดได้
ในส่วนของแพตนเองที่ขึ้นทะเบียนไว้นั้น ตนมีความตั้งใจเพื่อไว้ในอนาคตหากมีลูกบ่อมีปลาหมอคางดำเข้ามาจึงจะรับซื้อและรวบรวมไว้ให้กับทางผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งพอไปดูรายละเอียดยิบย่อยแล้ว กลับพบว่าในจังหวัดสมุทรปราการ นั้น รับปลาหมอคางดำได้เฉลี่ยเดือนละไม่กี่ตัน และหากในอนาคตหากปลาหมอคางดำมีมากกว่าที่กำหนดไว้ เมื่อทางแพรวบรวมได้แล้ว จะเอาไปไหน หากไปที่กาญจนบุรีตามที่แจ้ง ใครจะรับผิดชอบค่าขนส่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางประมงจังหวัดหรือผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้พูดคุยกับทางผู้ประกอบการที่จะรับซื้อ และเมื่อมีผู้ประกอบการด้วยกันถามว่ารับไหม? ตนก็ยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะมีบริษัทที่ออกมาประกาศรับปลาหมอคางดำ แต่ตนในฐานะผู้ประกอบการ ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนและเอกสารรับรองแต่อย่างใด ทำให้ปัจจุบันยังมีความกังวลหากเปิดรับซื้อจริง
ขณะเดียวกัน ที่จุดรับซื้อหลายจุดในสมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่กำหนดไว้ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้แต่อย่างใด.