เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ร้องทุกข์ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า วานนี้ (5 ส.ค.) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้ประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เป็นที่สนใจและมีคำวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือ สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) โดยได้ส่งคำวินิจฉัยไปให้ผู้อุทธรณ์และคู่กรณีในอุทธรณ์ทราบ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับคำวินิจฉัยแล้ว
พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ได้อุทธรณ์ว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 ที่สั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พิจารณาและวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำขออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากกรณีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน มีการนำเสนอความเห็นผ่านสื่อสารมวลชนจำนวนมาก โดยมีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกัน ทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง
ก.พ.ค.ตร. ได้พิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามกฎ ก.พ.ค.ตร.ว่าด้วยอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดให้ใช้วิธีการไต่สวนและได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนแล้ว
ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ คำขอคุ้มครองชั่วคราว คำชี้แจงของผู้อุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ คำชี้แจงและเอกสารที่เกี่ยวข้องของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และการแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา และถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คู่กรณีในอุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 105 มาตรา 107 มาตรา 1331 และมาตรา 179 ประกอบกฎ ก.พ.ค.ตร. ว่าด้วยการทั้งสักรายการมธรรรรกจาการการไว้ก่อน พ.ศ. 2567 ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
วินิจฉัยว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และกฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
วินิจฉัยยกอุทธรณ์ และยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวของผู้อุทธรณ์
ทั้งนี้ หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีการยื่นฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล หรือยื่นฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนี้
ด้าน พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ยังไม่ได้รับผลคำวินิจฉัย อยู่ระหว่างรอ และไม่ทราบว่า เมื่อวานนี้ ก.พ.ค.ตร. มีการประชุมลับจนถึงเกือบเที่ยงคืน พร้อมยืนยันหากผลออกมาเป็นลบ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมาย ก็จะยื่นศาลปกครองสูงสุดต่อภายใน 90 วัน.