ปีนี้สภาการศึกษาเชิญหน่วยงานด้านการศึกษานานาชาติ ตัวแทนสถานทูตในประเทศที่โดดเด่นเรื่องการพัฒนาการศึกษา ตัวแทนภาคธุรกิจจากหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เพื่อมาแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ผู้บริหารกับนักจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาฯ กระทรวง อว. และเครือข่ายการศึกษาได้ฟัง เพื่อนำข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดไปพัฒนางาน โดยท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้กล่าวเปิดงาน และเน้นว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของชาติ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เราแค่ค่อย ๆ ปฏิรูปคงไม่ทัน ต้องปฏิวัติการศึกษา โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง
ผมนั่งฟังไป ในใจก็สนับสนุนความคิดนี้ เพราะต้องปรับเปลี่ยนโดยเร็ว แทบจะต้องรื้อการศึกษาทั้งระบบ สิ่งที่อยากเห็น แต่ยังไม่เห็นก็คือ “คณะปฏิวัติการศึกษา” ที่มานั่งเรียงกันแล้วแถลงการณ์ว่าท่านทนไม่ไหวแล้วต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ และการปฏิวัตินี้มีเรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แต่ละท่านใครรับผิดชอบเรื่องอะไร มีกรอบระยะเวลาเท่าไร มีการลงทุนอย่างไร และถ้ามีคนขัดขืนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงท่านจะมีมาตรการจัดการพวกต่อต้านอย่างไร
ต่อจากท่าน รมต. ก็มีการบรรยายจากผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ คุณ Soohyun Kim ผู้อำนวยการองค์กร UNESCO เน้นเรื่อง SDG4 คุณภาพการศึกษา ที่เราต้องให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ต้องเตรียมตัวสำหรับจัดการการศึกษาในยามวิกฤติ เพราะอนาคตโลกเดือดจะมีอุบัติภัยใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอ ทำให้การจัดการเรียนรู้มีอุปสรรคมากขึ้น และที่สำคัญต้องคำนึง
ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เรียนอีกด้วยที่ UNESCO เค้ามีคำถามที่ท้าทายว่า 1.ในทุกวันที่เราทำงานเราทุ่มเทกันเต็มที่หรือยัง 2.ถ้าเราล้มเหลวจะสร้างความเสียหายให้อนาคตอย่างไรสุดท้ายยังเน้นเหมือนท่าน รมต.ว่า ต้องรีบทำทันที
คุณ Kyungsun Kim ผู้อำนวยการองค์กร UNICEF เน้นเรื่องสิทธิเด็กและการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมต้องลดความเหลื่อมลํ้า ต้องดูแลเด็กชายขอบ ลดการที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษา และต้องเริ่มก่อนเด็กเล็ก Early Childhood ต้องส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นประชากรโลกยุคใหม่ที่มีคุณภาพ
คุณ John Arnold Sasi Siena รองผู้อำนวยการองค์กร SEAMEO ชื่นชมว่า รมต.ศึกษาของไทยในปี 1965 มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล อยากให้ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอนาคตที่ดี และอนาคตที่ดีนั้นมาจากคุณภาพของการศึกษาของภูมิภาค ท่านจึงชวน รมต.ศึกษา 5 ประเทศมาร่วมลงนามจัดตั้งองค์กร SEAMEO ขึ้นที่กรุงเทพฯ และตลอด 59 ปี SEAMEO ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ 26 ศูนย์ ใน 11 ประเทศ ช่วยกันพัฒนาความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียน SEAMEO มีโครงการ และงานวิจัยที่สำคัญของศูนย์ต่าง ๆ มากมายที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปพัฒนาเป็นนโยบายใหม่ ๆ ได้ ในด้านเทคโนโลยีองค์กร SEAMEO มีศูนย์ SEAMOLEC ทำเรื่อง Open & Distance Learning ศูนย์ QITEP ทำเรื่อง Metaverse และศูนย์ STEM-ED ทำเรื่อง Generative AI ทั้งหมดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของการศึกษาในภูมิภาค ทั้งนี้ ตอนฟังคุณ John จากองค์กร SEAMEO ท่านพูดถึงความยั่งยืนเยอะมาก แต่ไม่ได้กล่าวถึงศูนย์ SEAMEO SEPS ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นศูนย์ล่าสุดที่รัฐบาลไทยเสนอให้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องความพอเพียงยั่งยืนให้ภูมิภาค ซึ่งความ “พอเพียงยั่งยืน” นี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
นอกจาก 3 องค์กรนานาชาตินี้แล้ว ยังมีผู้แทนจากสถานทูตมาแชร์ภารกิจด้านการศึกษาระหว่างไทยกับประเทศของเขาอีกด้วย เขาพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง มิใช่แค่ออกอีเวนต์ถ่ายรูปร่วมกัน และระหว่างนั่งฟังองค์กรระหว่างประเทศ และสถานทูตต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาไทยอย่างมาก ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาฯ และกระทรวง อว. ยัง
ไม่ได้ทำ SDG 17 Partnership for the Goals อย่างเต็มที่ ถ้าทำได้จะเชื่อมโยงองค์กรที่มีหัวใจเดียวกันให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซํ้าซ้อน และเกิดพลังสูงสุดต่อชาติ มีคนในกระซิบบอกว่าบุคลากรในฝ่ายต่างประเทศอาจจะมีไม่มากนัก ไม่แอ็กทีฟ กระทรวงไม่ค่อยให้ความสำคัญ และน้อยคนอยากมาทำงานฝ่ายนี้ เพราะต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งบุคลากรของกระทรวงศึกษาฯ ที่มีความชำนาญภาษาต่างชาติมีน้อยมาก ผมไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ แต่คิดว่าถ้าปฏิวัติการทำงานของฝ่ายต่างประเทศให้ทำงานเชิงรุกหนัก ๆ เชื่อมโยงการทำงานขององค์กรนานาชาติต่าง ๆ กับภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาฯ ได้ จะเกิดเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มากมายที่เรียกว่า Shared Value
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำดี ๆ จากนักธุรกิจ ตัวแทนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และ TMA ซึ่งเป็นศูนย์ความสามารถการแข่งขันของไทยที่เชื่อมต่อกับ IMD ข้อแนะนำดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ Facebook Page “สภาการศึกษา” นะครับ เพื่อจะได้ความรู้ที่มีอรรถรสครบถ้วนทุกมิติ อาจจะเจ็บ ๆ คัน ๆ บ้าง แต่ตามที่ท่าน รมต. กล่าวไว้ “เราต้องปฏิวัติการศึกษาไทย … โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง”.