สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่าสำนักงานนิติเวชแห่งกรุงโตเกียวรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 123 ราย จากความรุนแรงของคลื่นความร้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดย 121 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน และส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักพยากรณ์อากาศแนะนำให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน, ดื่มน้ำให้มากเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ และเปิดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีความเชื่อว่า เครื่องปรับอากาศไม่ดีต่อสุขภาพ และมักหลีกเลี่ยงการใช้งาน

สำนักงานนิติเวชแห่งโตเกียวระบุว่า เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดใน 23 เขตของมหานครโตเกียว มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิต 127 ราย

มากไปกว่านั้น สำนักงานดับเพลิงและจัดการภัยพิบัติเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคลมแดดเข้ารับการรักษาตัว ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ สะสมมากกว่า 37,000 คน

อนึ่ง อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึง 2.16 องศาเซลเซียส ส่งผลให้กลายเป็นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นเดือนซึ่งร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเริ่มบันทึกข้อมูล เมื่อปี 2441 และเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการประกาศเตือนภัยโรคลมแดด ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงโตเกียว และภาคตะวันตกของญี่ปุ่น

เมื่ออุณหภูมิในตัวเมืองโตเกียวพุ่งสูงถึงเกือบ 34 องศาเซลเซียส ประชาชนหลายคนต้องพกร่มกันแดด หรือพัดลมพกพาเมื่อออกจากบ้าน นายฮิเดฮิโระ ทาคาโนะ จากเกียวโต กล่าวว่า เขารู้สึกถึงอากาศร้อนที่ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี “ผมเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา รวมถึงตอนนอน และพยายามไม่ออกไปข้างนอก”

“พัดลมพกพาใช้งานได้ดีมาก” นายแม็กซิเม ปิกาเวต์ นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส กล่าวพร้อมโชว์พัดลมพกพาที่เขาซื้อมาจากโตเกียว “ด้วยอุณหภูมิขนาดนี้ มันถือเป็นสิ่งจำเป็น”

ทั้งนี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า อากาศจะร้อนขึ้นอีกในเดือน ส.ค. และจะมีอุณหภูมิอย่างน้อย 35 องศาเซลเซียส “โปรดติดตามพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับฮีทสโตรก และปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด” สำนักอุตุนิยมวิทยาระบุในแถลงการณ์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES