เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองของโลก ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด ร่วมฉลอง กฎหมายคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง โดยน.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยวธ.ได้ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อมั่นว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความต้องการผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ ผ่าน เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ได้โดยเร็ว และในส่วนวธ.ก็จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงหน่วยงานในจังหวัด และท้องถิ่น เพื่อที่จะทำงานร่วมกัน
“วธ.ได้ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 และสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2567 ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเป็นของขวัญให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในโอกาสเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค มีความมั่นคงในชีวิต มีความภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังสร้างสรรค์ชาติให้มีความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศ และจะให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีความหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เพื่อจะได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ นำสู่การมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม” รมว.วธ. กล่าว
ด้านนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศมส. กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 35 มาตราเสร็จแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาทบทวนถ้อยคำให้มีความสอดคล้องกันทั้งฉบับ ซึ่งเชื่อว่าในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณาเสร็จได้ทันภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการสร้างโอกาสแห่งความเสมอภาคของคนทุกกลุ่มในสังคม โดยในกระบวนการยกร่างพ.ร.บ.นั้น ศมส.ได้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกับกรณีของต่างประเทศ และศึกษาผลกระทบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีของการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ จึงเชื่อว่านี่จะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งของประเทศไทยที่จะคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคกัน