ชนเผ่าชาวประมง “บาเจา” ใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนในทะเลมาหลายชั่วอายุคน โดยดำรงชีวิตอยู่บนเรือที่มีหลังคามุงจาก ในน่านน้ำระหว่างอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
นักวิจัยหลายคนกล่าวว่า สมาชิกของชนเผ่าบาเจา เรียนรู้วิธีการดำน้ำตั้งแต่ยังเด็ก และร่างกายของพวกเขาก็ปรับตัวเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งช่วยให้พวกเขาจับปลาใต้น้ำได้นานขึ้น แต่สำหรับชาวบาเจาหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปูเลาปาปัน บนเกาะเล็ก ๆ ริมชายฝั่งอินโดเซีย วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษของพวกเขาแทบจะสูญหายไป
“พวกเราเปลี่ยนอาชีพ เรากลายเป็นชาวประมงที่ทำงานในฟาร์ม ซึ่งการทำฟาร์มทำให้มีรายได้มากขึ้น เพราะมันมีพืชผลให้ปลูกได้มากมาย ขณะที่บางครั้ง เราไม่ได้อะไรเลยจากการออกทะเล” ซอฟยาน วัย 39 ปี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เขาเป็นเจ้าของที่ดินขนาดเกือบ 2 เฮกตาร์ ที่ใช้ปลูกข้าวโพดและกล้วย
ซอฟยานได้รับการฝึกให้กลั้นหายใจใต้น้ำลึก 10-15 เมตร ตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็ก โดยในปัจจุบันเขายังค้นหาปลิงทะเลหรือหมึกยักษ์ ซึ่งสร้างรายได้ 500,000 รูเปียห์ (ราว 1,100 บาท)
ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ความสามารถของชาวบาเจา ในการดำน้ำได้ลึกและนานกว่าคนทั่วไป อาจเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ที่ทำให้ม้ามใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เลือดของพวกเขากักเก็บก๊าซออกซิเจนได้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายเวงกี อาเรียนโด นักวิจัยศึกษาชาวบาเจา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของประเทศไทย กล่าวว่า การประมงเชิงพาณิชย์ที่มากเกินไป และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น รูปแบบการอพยพและการผสมพันธุ์ของปลาก็เปลี่ยนไป อีกทั้งปะการังยังเผชิญ กับปรากฏการณ์ฟอกขาว และห่วงโซ่อาหารก็เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยข้อมูลกระทรวงการประมงอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่า สต๊อกปลาของประเทศลดลงจาก 12.5 ล้านเมตริกตันเมื่อปี 2560 เหลือ 12 ล้านเมตริกตันในปี 2565
อนึ่ง ชาวบาเจาเริ่มตั้งรกรากบนเกาะปูเลาปาปัน เมื่อประมาณสามชั่วอายุคนก่อน เนื่องจากพวกเขามองว่า เกาะแห่งนี้เหมาะสำหรับการสร้างบ้าน ส่งผลให้พวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อนอีกต่อไป
กระนั้น ชีวิตบนบกสำหรับชนเผ่าบาเจา ก็มีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง และทำให้ประชาชนไม่มีรายได้เพิ่ม จนเกิดการโต้เถียงหลายครั้งระหว่างทั้งสองฝ่าย
“ชาวบาเจาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขา เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะชาวอินโดนีเซีย” เวงกี กล่าวเพิ่มเติม
แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ชาวบาเจาบนบกสามารถตั้งกลุ่มบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผู้ติดตามหลายพันคน เพื่อช่วยแก้ปัญหาซึ่งกันและกันได้ แต่ชาวบาเจาบางส่วน หวังว่าลูกหลานของพวกเขาจะใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนบนเรือกลางทะเลเหมือนกับบรรพบุรุษ และแสดงความกังวลว่า คนรุ่นหลังจะสูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อพวกเขามีชีวิตที่สะดวกสบาย พวกเขาก็จะไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตในทะเลอีก.