นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 855,407 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 333 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 312 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 13 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 8 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 184 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 82 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 99 เรื่อง กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 52 เรื่อง กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 8 เรื่อง กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 8 เรื่อง และกลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 17 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งกล่าวถึง แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” จำนวน 3 อันดับ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงให้ความสนใจต่อโครงการนี้ ขณะที่ข่าวอื่นๆ เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานของรัฐ และข่าวด้านสุขภาพ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง แรงงานชาวเมียนมา เรียกร้องสิทธิเทียบเท่าคนไทย
อันดับที่ 2 : เรื่อง โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐ ข้อมูลจะไปอยู่ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์
อันดับที่ 3 : เรื่อง แม่ค้าออนไลน์ที่สมัครแอปทางรัฐ ขณะนี้โดนอายัดบัญชีแล้ว
อันดับที่ 4 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัครงานพับถุงกาแฟ ลงทะเบียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านเพจ Department of Employment
อันดับที่ 5 : เรื่อง แอปพลิเคชันทางรัฐ เก็บข้อมูลคนไทย 50 ล้านคน เป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อไปถึงบัญชีธนาคารของทุกคน
อันดับที่ 6 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ SIMPLY POTENT PROSTATE SUPPORT บรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ของต่อมลูกหมาก และทางเดินปัสสาวะ
อันดับที่ 7 : เรื่อง รับสมัครคนช่วยแพ็กของ ทางเพจกรมจัดหางานฝีมือสร้างรายได้
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครงานพับถุงกาแฟ รายได้ 540 บาทต่อวัน ผ่านเพจ Department of Skill
อันดับที่ 9 : เรื่อง ปวดกล้ามเนื้อต้นขาด้านนอก ลมหายใจเหม็น ลิ้นเป็นฝ้า คืออาการลำไส้ใหญ่มีปัญหา
อันดับที่ 10 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กทางรัฐ ทางลัด ให้บริการยื่น-จ่าย-รับ ไม่ต้องรอเวลาราชการ
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ และหน่วยงานของรัฐ มากถึง 7 อันดับ โดยเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และอาชีพของประชาชน ถึง 4 อันดับ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 3 อันดับ โดยโครงการที่กล่าวมาทั้งหมด มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “แรงงานชาวเมียนมา เรียกร้องสิทธิเทียบเท่าคนไทย” เป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานกับ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงข้อมูลจริงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อร้องเรียนต่างๆ จากแรงงานเมียนมา แต่อย่างใด
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐ ข้อมูลจะไปอยู่ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS) จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปภายนอกได้ และไม่ได้มีการเก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทาง หรือของประชาชนที่ลงทะเบียนมาไว้ที่แอปพลิเคชันทางรัฐแต่อย่างใด โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปพลิเคชันทางรัฐ สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น
“ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อนเชื่อ ก่อนแชร์”