แนวโน้มการออกมาตื่นตัวครั้งนี้จะเป็นไปในทิศทางใด การปรับปรุงกฎหมายจะช่วยได้มากแค่ไหน “ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนสะท้อนมุมมองกับนายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยที่ทำงานประเด็นคนไร้บ้านและคนขอทาน มองว่า อันดับแรกต้องเข้าใจว่า “ขอทาน”กับ“คนเร่ร่อน ไร้บ้าน” เป็นคนละกลุ่ม ส่วนใหญ่ผู้ที่ขอทานมีสาเหตุจากเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่หลักๆจะสัมพันธ์กับการแสวงหาผลประโยชน์ หรือการหาประโยชน์จากการขอทาน แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน ส่วนใหญ่จะไม่ขอทาน
จากสถิติที่พม.สำรวจได้ขณะนี้ เป็นยอดที่เกิดจากการจัดระเบียบขอทาน เช่น ไปพบเจอเคสแล้วนำเข้าสู่กระบวนการขั้นตอน แนวโน้มจึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริง โดยการจัดระเบียบขอทานในปี 67 พบขอทาน 506 คน ในจำนวนร้อยละ 83 เป็นคนไทย ที่เหลือเป็นขอทานต่างด้าว หรือขอทานข้ามชาติ
เฉพาะวันที่ 1 ต.ค.57-31 ก.ค.67 พบขอทาน 7,635 ราย เป็นขอทานคนไทย ร้อยละ 65 ที่เหลือเป็นขอทานต่างด้าว โดยปี ในปี 67 มียอดผู้ที่มาขอทานซ้ำประมาณร้อยละ 30
นายอนรรฆ เผยกุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาขอทานว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกต้องมองผู้ที่มาขอทานจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจัยที่ทำให้มาเป็นขอทานก็จะมาจากเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน หรือการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อย หากเป็นเคสเหล่านี้พม.และเครือข่ายจะนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ให้ได้มีอาชีพและกลับเข้าสู่ระบบปกติ ขอทานที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจส่วนใหญ่เมื่อได้รับการฟื้นฟูแล้วมักไม่กลับไปขอทานซ้ำ
ขณะที่อีกกลุ่มจะมีลักษณะ“กึ่งขบวนการ” อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรูปแบบกระบวนการที่ชัดเจน กลุ่มนี้จะแก้ไขใน 3 ส่วน คือ 1.ตามแนวทางของ รมว.พม.เรื่อง การให้ทานอย่างถูกวิธี เพื่อลดจำนวน 2.ทำกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดการกลับมาขอทานซ้ำ ซึ่งกรณีดังกล่าวมักพบในขอทานต่างด้าว เมื่อถูกจับก็ถูกผลักดันออกไปประเทศตามสัญชาติ แต่ไม่นานก็กลับมาขอทานซ้ำ ในกลุ่มนี้มองว่า พม.มีความจำเป็นต้องยกระดับการทำงานไม่เพียงเฉพาะภายในประเทศ แต่ต้องร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทาง เป็นการทำงานความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทาง
และ3.ต้องทำการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ส่วนใหญ่ขอทานเหล่านี้มักอาศัยเป็นชุมชน บางกลุ่มเป็นขอทานอาชีพ บางกลุ่มขอทานเป็นรายได้เสริม จึงต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทาง
“ทั้งหมดนี้ต้องยกระดับการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานระหว่างประเทศ เพื่อสกัดตั้งแต่ต้นทางไม่ให้ กลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้ามากระทำการขอทาน”
สำหรับความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อ“เอาผิด”คนให้เงินขอทานนั้น นายอนรรฆ ระบุ การเอาผิดคนให้ทานต้องไปดูในเชิงรายละเอียดอีกครั้ง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการให้ แต่จากข่าวที่ระบุในความหมายที่ รมว.พม.กล่าวถึงคงเป็นการหมายถึง จะมีวิธีการอย่างไรที่จะลดการให้ทาน เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ การแก้กฎหมาย
ขณะนี้แนวทางแก้กฎหมายมุ่งเน้นประเด็นแรก คือ ลดการขอทานซ้ำ ยกตัวอย่าง มีบทลงโทษที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นขอทานซ้ำ ประเด็นที่ 2 การนำเด็ก หรือสัตว์ มาแสวงหาผลประโยชน์จากการขอทาน เนื่องจากปัจจุบันการขอทานในรูปแบบนี้ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย เช่น หากพิสูจน์ได้ว่าเด็กที่นำมาขอทานด้วยเป็นผู้สืบสันดาน จะไม่เข้าข่ายแสวงหาผลประโยชน์ หรือค้ามนุษย์ ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
นายอนรรฆ แย้มสาระสำคัญของร่างกฎหมายว่า ล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการทบทวน และปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฯ ซึ่งเริ่มประชุมไปแล้งหลายครั้ง ส่วนตัวเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการดังกล่าว ประเด็นที่น่าสนใจที่มีการหารือ อาทิ จะจัดการกับ“ขอทานซ้ำ”อย่างไร การแก้ปัญหานำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ การขอทานรูปแบบใหม่ๆ เช่น การขอทานออนไลน์ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร เป็นต้น
“ปัญหาขอทานในไทยเท่าที่พบขณะนี้ หากเป็นขอทานข้ามชาติจะมีลักษณะที่ดูเหมือนเป็นขบวนการ แต่ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของ พม.ก็มีความพยายามที่จะจัดการตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็มีความยากลำบากในการสืบค้น”
ทั้งนี้ ย้ำว่าการเริ่มทบทวนแก้ไขร่างล่าสุด รมว.พม.ให้ความสำคัญ และพยายามเร่งรัดให้ปรับแก้โดยเร็ว แต่ต้องรัดกุมรอบคอบ เบื้องต้นคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะเห็นภาพข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และก็เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญัติต่อไป.